news-details
Business

ปตท.เผยปี’68 ยังเผชิญความท้ายทายจากหลากปัจจัยลบ เดินหน้าทุ่มงบ 2.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนธุรกิจแก๊ส-โครงสร้างพื้นฐาน ชูผลประกอบการแกร่ง มั่นใจกลยุทธ์ใหม่ถูกทาง

ปตท.เผยปี 68 ยังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัยลบ จับตานโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ลดความสำคัญของพลังงานสะอาด ยังไม่ได้รับผลกระทบ เดินหน้ามุ่งกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจนตามแผน ด้าน Pool Gas ยังไม่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงพลังงาน ระบุแผน 5 ปี ตั้งเป้างบลงทุน 55,000 ล้านบาท ส่วนปีงูเล็ก ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจแก๊ส-ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก พร้อมมุ่งสร้างความมั่นคง-การเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ลงทุนด้วยความระวัง พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

 

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานของปตท. ปี 2567 ที่ผ่านมานั้น ได้เผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ , การเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ภาวะเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา และจีน ,แรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่มากเกินความต้องการในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยปีที่ผ่านมา ปตท. ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ใหม่ที่กลับมาเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ทบทวนกลยุทธ์ Non-Hydrocarbon เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มี Synergy ในกลุ่ม ปตท. รวมถึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บริหารต้นทุน ด้วยการทำ Operational Excellence ทั้งกลุ่ม ปตท. นำ Digital มาใช้ นอกจากนี้ มุ่งดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2567 มีรายได้ 3,090,453 ล้านบาท กำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 6.6 และมีส่วนช่วยภาครัฐในการบริหารจัดการต้นทุนในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะปกติ เพื่อลดผลกระทบให้แก่ประชาชน

“ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เกิดจากบริหารจัดการและรวมพลังในองค์กร  มีกำไรหลักมาจากธุรกิจ Upstream แม้ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ มาชดเชยกับธุรกิจ Downstream ที่ได้รับความกดดันจากปัจจัยด้านราคา  แต่เรื่องสำคัญคือการบริหารต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งกลุ่ม ปตท. รวมถึงการบริหารรายการพิเศษและบริหารผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินกู้ได้ดี” ดร.คงกระพัน กล่าว

ดร.คงกระพัน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2568 ยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังคอยเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ปตท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งติดตามผลกระทบทางด้านการค้า ค่าเงิน และดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาในการลงทุน และการบริหารงานในภาพรวม โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านการค้า ค่าเงิน และดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาในการลงทุน และการบริหารงานในภาพรวม 

ส่วนเรื่องของพลังงานโลกที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลดความสำคัญของพลังงานสะอาดนั้น มองว่าไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะทิศทางของโลกยังมุ่งไปพลังงานสะอาด ดังนั้น ปตท. จึงยังมุ่งไปที่กระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และไฮโดรเจนตามแผน รวมไปถึงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร ลดความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพธุรกิจ ซึ่งทุกอย่างต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง ส่วนเรื่องนโยบายการลดค่าไฟ โดยปรับโครงสร้างราคาก๊าซ (Pool Gas) เพื่อลดค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ลง 40 สตางค์นั้น ปตท. ยังไม่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ปตท. ได้สนับสนุนราคาก๊าซฯในการลดค่าไฟ รวมถึงสนับสนุนราคาพลังงาน เช่น NGV และ LPG ประมาณ 28,000 ล้านบาท

 

สำหรับแผน 5 ปี ปตท.ตั้งเป้างบการลงทุนไว้ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2568 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท  ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจแก๊สเป็นหลัก และรองลงมาคือการซื้อขายแก๊ส (Trading) รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เกี่ยวข้องกับการแยกแก๊สและท่อส่งแก๊ส นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่ามากขึ้น โดยจะมีการลงทุนที่น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สำหรับธุรกิ Hydrocarbon and Power ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างผลตอบแทนให้กับ ปตท. ประกอบด้วย

การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิต ผ่านบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) โดย ปตท.สผ. สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จากอ่าวไทยสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 10 ในโครงการสัมปทานกาชา (Ghasha Concession Project) หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ธุรกิจ LNG มีปริมาณการนำเข้า LNG ทั้งสัญญาระยะยาว และสัญญาแบบ Spot รวม 9.6 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการพลังงานในประเทศ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย สร้างมูลค่าเพิ่ม 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความร่วมมือภายในกลุ่ม และโรงกลั่นได้ปรับการผลิตน้ำมันดีเซลให้ได้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายของภาครัฐ 

ธุรกิจไฟฟ้า มีกำลังการผลิตเพิ่มเติม (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) รวมทั้งหมด 15 GW โดยหลักมาจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

สำหรัธุรกิจ Non-Hydrocarbon ได้ทบทวนกลยุทธ์ เน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม ปตท. โดย EV ธุรกิจมุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วมกับ OR ที่มีความพร้อมของ Ecosystem สำหรับ Life Science เป็นธุรกิจที่ดี แต่ต้องขับเคลื่อนได้ด้วยธุรกิจเอง self-funding มีผู้เชี่ยวชาญ ปีที่ผ่านมารับรู้รายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท Alvogen Malta (Out-licensing) Holding Ltd. มูลค่า 4,500 ล้านบาท ของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด สำหรับ Logistics ออกจากธุรกิจไม่สอดคล้องกับ ปตท. มุ่งเน้นที่สามารถต่อยอดและมี Synergy ภายในกลุ่ม ปตท.

นอกจากนี้ ปตท. มีกลยุทธ์สร้างการเติบโตควบคู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ NET ZERO ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ C1 การปรับพอร์ทธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน C2 การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด C3 ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage / CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกป่า

เจตนารมณ์ของ ปตท. ในการขับเคลื่อนองค์กรบนพื้นฐานความยั่งยืนอย่างสมดุล เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ด้วยผลคะแนนอันดับ 1 ด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก (Top 1%) ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Upstream & Integrated (OGX) ในรายงานประจำปี “The Sustainability Yearbook 2025” จากการประเมินของ S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ประจำปี 2024 และได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI เป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงการเดินทางบนความยั่งยืนของ ปตท. นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทเดียวในไทยที่ติดอันดับมูลค่าแบรนด์สูงสุดใน Brand Finance Global 500 และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Fortune Southeast Asia 500 ให้เป็นบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากพันธกิจหลักด้านพลังงาน ปตท. ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ช่วยสังคมอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาได้เปิดสวนเปรมประชาวนารักษ์ ณ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และยังเป็นการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โดยรอบให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ปีนี้ยังคงท้าทาย ปตท. มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องสร้างความแข็งแรงภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ พิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าวในที่สุด

 

You can share this post!