ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 34.08 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่าลง" กรุงไทย คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ 33.90-34.25 บาท/ดอลลาร์ จับตาเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย อัพเดทค่าเงินบาทประจำวันศุกร์ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.08 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่าลง" จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.90 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.88-34.09 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจากยุโรป เม็กซิโก แคนาดา และจีน ส่งผลให้บรรดาสกุลเงินดังกล่าวที่เสี่ยงเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้า อย่าง เงินยูโร (EUR) และเงินหยวนจีน ต่างอ่อนค่าลงชัดเจน
นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากจังหวะการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่มีจังหวะปรับตัวลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นระยะๆ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายเงินดอลลาร์รวมถึงการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเกือบ 50% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็พอช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการประกาศเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจากยุโรป เม็กซิโก แคนาดา และจีน อย่างไรบ้าง
ส่วนในฝั่งเอเชีย ช่วงราว 8.30 น. ของเช้าวันเสาร์นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา จนทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ทำให้ เรามีมุมมองเชิงลบต่อเงินบาทมากขึ้น โดยเงินบาทเสี่ยงกลับมาอยู่ในแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend-Following อย่างไรก็ดี เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้หรือไม่นั้น เรามองว่า ต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ ราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ทยอยย่อตัวลงสู่โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งหากราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดโซนแนวรับ 2,870-2,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างชัดเจน ก็อาจสะท้อนว่า ราคาทองคำได้เข้าสู่การปรับฐาน (Correction) เพิ่มความเสี่ยงที่จะเห็นราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม ในทางกลับกัน หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนดังกล่าวได้ ก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าไปมาก หรืออย่างน้อยก็ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือ ความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) มีโอกาสแกว่งตัว +0.10%/-0.22% ในช่วง 30 นาที หลังทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.25 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ)