news-details
Business

เงินบาท"แข็งค่า"เปิดเช้านี้ 33.68 บาท/ดอลลาร์

กรุงไทย อัพเดท ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 33.68 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.90 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนในช่วงรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.68 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.87 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.65-33.86 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าในช่วงแรกเงินบาท รวมถึงบรรดาสกุลเงินอื่นๆ จะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามความกังวลผลกระทบจากการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย รับมือความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป นำโดยเงินยูโร (EUR) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 1.06 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามความหวังว่าว่าที่รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีจะสามารถผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ในการกู้เงินของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มงบประมาณด้านการทหารและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ วงเงินราว 5 แสนล้านยูโร ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาอ่อนค่าเหนือโซน 149.50 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ ลงบ้าง ท่ามกลางแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP รวมถึงยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) และยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) เป็นต้น พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการของจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจยังคงทรงตัวในกรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงราว 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา ถือว่าเหนือความคาดหมายของเราพอสมควร โดยมาจากปัจจัยที่ไม่ได้คาดคิดอย่าง การแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ตอบรับแนวโน้มรัฐบาลใหม่ของเยอรมนีเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแก้ไขกฎเกณฑ์การกู้เงิน นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังกล่าว ยังคงสะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำนั้นมีผลต่อทิศทางเงินบาทพอสมควร อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่อาจทยอยอ่อนค่าลงได้ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดทุนฝั่งเอเชีย ทำให้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจเป็นเพียงการแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากยุโรปยังเสี่ยงเผชิญการดำเนินนโยบายกีดกันทางการจากสหรัฐฯ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินยูโรได้ อีกทั้ง เราคงกังวลว่า ผู้เล่นในตลาดได้ “รับรู้และคาดหวัง” ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 2-3 ครั้ง ในปีนี้ ไปพอสมควรแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลการจ้างงานออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองการลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว จนหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้

อนึ่ง เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มจากยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในช่วงราว 20.15 น. ตามเวลาประเทศไทย จนถึงช่วง 22.00 น. ที่ตลาดจะรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่าเงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวน +/-0.20% ได้ภายในช่วง 30 นาที หลังทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.90 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

You can share this post!