news-details
Business

เงินบาทเปิดเช้านี้ 33.73 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

เงินบาทเปิดเช้านี้ 33.73 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” กรุงไทย คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหว Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.63-33.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยในช่วงแรก เงินดอลลาร์มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งแม้จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ลง 25bps สู่ระดับ 2.50% ตามคาด ทว่า ECB ได้ส่งสัญญาณว่า การปรับลดดอกเบี้ยล่าสุด ได้ทำให้นโยบายการเงินมีความตึงตัวลดลงอย่างมาก (Meaningfully Less Restrictive) สะท้อนว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกไม่มากนัก อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็กลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ (ทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ และอีก 1 ครั้ง ในปีหน้า (Fully Priced-In)

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ทางฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 0.82% (ตลาดคาดการณ์ 1.10%) แต่ เราประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว จนกว่าจะเห็นสัดส่วนของสินค้าและบริการที่มีราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพิ่มมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานปลางเริ่มปรับตัวลดลงชัดเจน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัว Sideways ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้ โดยโซนแนวรับของเงินบาทก็อาจอยู่ในช่วง 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทก็ดูจะติดอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีโซนแนวต้านสำคัญถัดไปแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวได้ถึง +0.57%/-0.32% ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

โดยหากประเมินจากมุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ในตลาด จะเห็นได้บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ยอดการจ้างงานฯ ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นราว +1.6 แสนตำแหน่ง แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่า ยอดการจ้างงานฯ อาจเพิ่มขึ้นต่ำกว่า +1 แสนตำแหน่ง ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดจะมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ และอีก 1 ครั้ง ในปีหน้า ไปเต็มที่แล้ว (Fully Priced-In) ทำให้ หากยอดการจ้างงานฯ ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือตามคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ในปีนี้ ลงบ้าง หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท แต่หากยอดการจ้างงานฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน เช่น เพิ่มขึ้น น้อยกว่า +1 แสนตำแหน่งไปมาก ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยิ่งกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ หรืออาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้ง ในปีหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ไม่ยาก ซึ่งเงินบาทก็เสี่ยงแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ)

You can share this post!