ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.58 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง" กรุงไทย คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.75 บาท/ดอลลาร์ ลุ้นผลประชุมธนาคารกลางหลัก
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.58 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.59 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.57-33.66 บาท/ดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการจังหวะการปรับตัวลงเร็วของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ตอบรับรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ ที่แม้จะปรับตัวขึ้นเพียง +0.2% จากเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาด แต่หากหักผลของยอดขายน้ำมันและรถยนต์ (Core Retail Sales) เพิ่มขึ้น +0.5% ดีกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อ่อนค่าได้ไม่นาน หลังเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยุโรป ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำกลับสู่โซน 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมีนาคม ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความหวังรัฐบาลเยอรมนีปฏิรูปการกู้เงินของรัฐบาล เปิดทางไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนกุมภาพันธ์ และรายงานข้อมูลตลาดบ้าน รวมถึงคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ โดย เฟด สาขา Atlanta (GDPNow)
และในฝั่งเอเชีย ช่วง 6.30 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพุธ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ของญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน โดยมีโซนแนวรับแถว 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ฝั่งผู้นำเข้าก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงจังหวะเงินบาทแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับดังกล่าว อีกทั้ง เราประเมินว่า ราคาทองคำก็อาจเสี่ยงย่อตัวลงบ้าง เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม และบรรยากาศในตลาดการเงินก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันหรือจำกัดการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำได้ นอกจากนี้ เรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย ก็ยังมีความผันผวนอยู่ ดังจะเห็นได้จากการทยอยขายบอนด์จากบรรดานักลงทุนต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่งหุ้นก็ยังไม่เห็นแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจน
และที่สำคัญ เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะเริ่มจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพุธที่จะถึงนี้ ตามด้วยผลการประชุม FOMC ของเฟด
อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง การอ่อนค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านแรก 33.70-33.80 บาท/ดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.75 บาท/ดอลลาร์