ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ 33.57 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าเล็กน้อย" กรุงไทย คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ และรายงานเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.57 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าเล็กน้อย" จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.64 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.56-33.69 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ เหลือราว 20% ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาด
และแม้ว่า คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่ของเฟด จะยังคงสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ในปีนี้ และอีก 2 ครั้ง ในปีหน้า จบที่ระดับสูงกว่า 3.00% เล็กน้อย (Longer-run) ไม่ต่างจาก Dot Plot ในการประชุมเดือนธันวาคมปีก่อน แต่เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ โดยมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัว +1.7% ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน (+2.1%) พร้อมปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ PCE สูงขึ้นเป็น 4.4% และ 2.7% ตามลำดับ (คาดการณ์ก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 4.3% และ 2.5%)
ซึ่งการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวของเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดกลับมาปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ เป็น 64%
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ก่อนที่จะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งเราประเมินว่า BOE อาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.50% ไปก่อน ทว่าในปีนี้ BOE ก็ยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว 2-3 ครั้ง ตามแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงจากผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ อาทิ ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขา Philadelphia เป็นต้น
และในฝั่งเอเชีย บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOJ ยังมีโอกาสราว 32% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น เหนือความคาดหมายของเราบ้าง เพราะแม้ว่า เฟดจะคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ไม่ต่างจากการประชุมก่อนหน้า อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่าน ที่เปลี่ยนใจมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง หรือ คงดอกเบี้ย เมื่อเทียบจาก Dot Plot เดือนธันวาคมปีก่อน ทำให้ Dot Plot โดยรวมมีความ “Hawkish” มากขึ้น แต่การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของเฟด ที่ดูจะสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญ ภาวะ “Stagflation” มากขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า สุดท้าย เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ในปีนี้ มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot กดดันให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ขณะเดียวกันก็หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ในระยะสั้น การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอ “ขาย” มากกว่าจะรอ “ซื้อ” ทำให้ ราคาทองคำยังเสี่ยงที่จะย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งเราประเมินว่า หากราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ก็อาจชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท อีกทั้ง ในช่วงนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้นำเข้าก็ทยอยรอซื้อเงินดอลลาร์ แถวโซนแนวรับเงินบาทในช่วง 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ เรามองว่า เงินบาท (USDTHB) ก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ใกล้โซนแนวรับดังกล่าวไปก่อนได้
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันเงินบาทก็อาจได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติม ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม แต่เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ ก็อาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้นได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์