ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ตำรวจไซเบอร์ มือปราบโจรออนไลน์ พร้อมด้วยทรูมันนี่ เดินหน้าทำงานแบบบูรณาการ เร่งเสริมเกราะสู้ภัยไซเบอร์ ครอบคลุมทุกมิติ เพิ่มขีดสุดความปลอดภัย ประกาศความร่วมมือเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบเหล่ามิจฉาชีพได้แบบเรียลไทม์ ระงับภัยได้อย่างทันท่วงที และพัฒนาช่องทาง SFTP เพื่อรับส่งข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมยกระดับ “ศูนย์ฮอตไลน์ 9777 Scam Report” ให้เป็นบริการครบวงจรแบบ One Stop Service รับแจ้งเบอร์โทร SMS และเว็บลิ้งก์ต้องสงสัยจากผู้ใช้บริการทรู ครบผ่าน 3 ช่องทาง คือ โทร USSD และ MMS ที่หมายเลข 9777 พร้อมประสานงานตำรวจไซเบอร์ ตรวจสอบและแจ้งผลรวดเร็วกว่าเดิมภายใน 24 ชั่วโมง หากเป็นมิจฉาชีพจริง จะบล็อกทันที และเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของ True CyberSafe ระบบป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ “Call AI Filter” ช่วยคัดกรองหรือแจ้งเตือนสายเรียกเข้าที่อาจเป็นมิจฉาชีพได้อย่างแม่นยำ โดยใช้ AI ประมวลผลข้อมูลที่รวบรวมจากพฤติกรรมการใช้งานมือถือของมิจฉาชีพ และข้อมูลหมายเลขต้องสงสัยที่ได้จากตำรวจไซเบอร์รวมกว่า 300,000 หมายเลข ทำให้สามารถแจ้งเตือนลูกค้ามือถือทรู ดีแทค และเน็ตบ้านทรูออนไลน์ ช่วยปกป้องภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที โดยเป็นบริการพื้นฐานฟรี ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องลงทะเบียนหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มแต่อย่างใด นอกจากนี้ True CyberSafe กำลังเร่งพัฒนาฟีเจอร์ “SMS AI Filter” ที่สามารถแจ้งเตือน SMS ที่อาจเป็นมิจฉาชีพ ซึ่งจะพร้อมให้บริการในเดือนพ.ค.68 นี้ และ ยังร่วมมือกับ ทรูมันนี่ ยกระดับการป้องกันภัยให้เข้มข้นมากขึ้น ปกป้องการหลอกลวงทางการเงิน ด้วยระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น 'TrueMoney 3 x Protection' ตรวจ-จับ-หยุด ธุรกรรมแปลกปลอมที่มั่นใจได้มากกว่าสำหรับลูกค้าทรู ดีแทค ทุกครั้งใช้จ่ายผ่านแอป TrueMoney
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) หรือ CCIB เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ส่งผลกระทบทั้งต่อประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีการฉ้อโกงทางออนไลน์ การโจรกรรมข้อมูล และการโจมตีทางไซเบอร์ที่เป็นภัย สร้างความเดือดร้อนและเสียหายมากมาย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพ มีการรวมตัวกันเป็นองค์กร จากเดิมที่มุ่งหวังเพียงชื่อเสียง หรือป่วน ประกาศศักดาให้รู้ถึงความสามารถของตนเอง ได้เปลี่ยนเป็นการมุ่งหวังต่อทรัพย์สิน ต่อชีวิต และคุกคามทางเพศอื่นๆ
จากสถิติของคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้มีการจัดเก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่ามีการแจ้งความคดีออนไลน์ มากถึง 831,648 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 85,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยความเสียหายประมาณ 78 ล้านบาท/วัน ปัจจุบันรัฐบาลได้ระดมกำลังและบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันในการที่จะป้องกันและปราบปรามกลุ่มองค์กรอาชญากรรม กลุ่มมิจฉาชีพ กลุ่มอาชญากรออนไลน์ ปัจจุบันมีข่าวดีว่า เดิมสถิติมีการรับแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ เฉลี่ยวันละกว่า 1,200 คดี ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณวันละ 900 คดี ลดลงไปประมาณ 300 คดี/วัน โดยกลุ่มที่ถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน เนื่องจากประเภทของคดีที่ถูกหลอกลวงและเก็บเป็นสถิติไว้มี 14 ประเภท โดย 7 อันดับแรก ได้แก่
1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นขบวนการ คิดเป็นสัดส่วน 43.31%
2.การหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน คิดเป็นสัดส่วน 12.69%
3.หลอกให้กู้เงิน คิดเป็นสัดส่วน 9.54%
4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ คิดเป็นสัดส่วน 7.51%
5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) คิดเป็นสัดส่วน 6.59%
6.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล คิดเป็นสัดส่วน 4.79%
7.หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน คิดเป็นสัดส่วน 4.17%
ขณะที่การแจ้งความผ่านระบบคดีออนไลน์สะสมเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวน 25,516 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 1,800 กว่าล้านบาท หรือเฉลี่ยความเสียหาย 65 ล้านบาท/วัน
ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์และลดภัยคุกคามดังกล่าว กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ จึงได้ร่วมมือกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ดำเนินโครงการความร่วมมือสู้ศึกไซเบอร์วอร์ เพื่อป้องกันและปราบปรามภัยไซเบอร์ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1.ร่วมสนับสนุน True CyberSafe โดยเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อตรวจสอบ สืบสวน และยกระดับการป้องกันภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การพัฒนาระบบหมายเรียกพยานเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ช่องทาง SFTP (Secure File Transfer Protocol) ในการรับส่งข้อมูลอย่างเป็นระบบ ได้รับการรับรองมาตรฐานทางราชการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในกระบวนการยุติธรรมของศาล
3.การประสานงานในกรณีเร่งด่วน เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ ลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีและฉ้อโกง และทำให้การสืบสวนสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา คณะกรรมการตาม พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ประกาศธุรกิจต้องสงสัย 21 ข้อ ให้สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการระงับเกี่ยวกับธุรกิจต้องสงสัย เช่น ข้อ 4 ข้อกำหนดของกลุ่มผู้เปราะบาง ประกอบไปด้วย ผู้ใช้บัญชีอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะต้องอยู่ในบัญชีที่ต้องเฝ้าดูแล ถ้ามีการโอนเงินออกไปเป็นจำนวนมากจำนวนหมดบัญชี หรือเกือบหมดบัญชี จะต้องมีมาตรการในการบล็อก ไม่ให้โอนเงินออกไป เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็จะต้องไปสร้างระบบป้องกันตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง โดยทาง CCIB ก็จะส่งข้อมูลให้อย่างต่อเนื่อง
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักถึงภัยไซเบอร์ที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน และเข้าใจดีว่า การปกป้องคนไทยจากภัยมิจฉาชีพจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันสู้ศึกไซเบอร์วอร์ ความร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ในครั้งนี้ จึงเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเพื่อยกระดับการดูแลประชาชนคนไทยให้ปลอดภัยในการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการทำงานกับตำรวจไซเบอร์ เชื่อมโยงข้อมูลเหล่ามิจฉาชีพแบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจสอบและระงับภัยได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที เพิ่มศักยภาพบริการ True CyberSafe ในการป้องกันภัยให้แก่ลูกค้าทรูทั้งโมบายล์และออนไลน์กว่า 60 ล้านคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ โดยเฉพาะ “ศูนย์ฮอตไลน์ 9777 Scam Report” ที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือของภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชน ที่ได้มีการยกระดับให้เป็นบริการแบบครบวงจร One Stop Service ครบผ่าน 3 ช่องทาง คือ โทร USSD และ MMS ที่หมายเลข 9777 โดยลูกค้าทรูสามารถกด *9777# โทรออก เพื่อแจ้งเบอร์ต้องสงสัยภายใน 5 นาทีหลังรับสายและเป็นเบอร์โทรล่าสุด หรือ กด *9777* ตามด้วยเบอร์ต้องสงสัย# เพื่อแจ้งระบุเบอร์ และยังสามารถแคปหน้าจอที่แสดงข้อความ หมายเลข และลิ้งก์ต้องสงสัย แล้วส่ง MMS ไปที่หมายเลข 9777 โดยจะมีทีมงานพิเศษ และระบบ AI คอยตรวจสอบ คัดกรองข้อมูล พร้อมแจ้งผลอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง หากเป็นมิจฉาชีพจริง จะบล็อกทันที และทีมตำรวจไซเบอร์สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ศูนย์ฮอตไลน์ 9777 Scam Report จึงเป็นหนึ่งฟีเจอร์ของ True CyberSafe ที่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการจัดการภัยคุกคามจากมิจฉาชีพ ทำให้เกิดระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในสังคม
นายฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นับเป็นภารกิจของทรู คอร์ปอเรชั่นที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการดูแลปกป้องภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าทุกคน โดยเราได้พัฒนา ระบบความปลอดภัยของเครือข่ายแบบ End-to-End นำทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและทั่วโลก พร้อมทั้งได้เปิดบริการ True CyberSafe ระบบป้องกันภัยไซเบอร์ ช่วยคัดกรองลิ้งก์อันตรายให้ลูกค้าทรู ดีแทค และเน็ตบ้านทรู ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมา (ตั้งแต่เริ่มให้บริการในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ถึง 18 มีนาคม 2568) True CyberSafe สามารถปกป้องลูกค้าจากการคลิกลิงก์แปลกปลอมได้ถึง 624 ล้านครั้ง (เฉลี่ย 7.5 ล้านครั้งต่อวัน) คิดเป็น 98.7% ที่ระบบสามารถปกป้องได้ และล่าสุด True CyberSafe พร้อมเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Call AI Filter ช่วยกรองและแจ้งเตือนสายเรียกเข้า โดยใช้ AI ประมวลผลข้อมูลที่รวบรวมจากพฤติกรรมการใช้งานมือถือของมิจฉาชีพ และข้อมูลหมายเลขต้องสงสัยที่ได้จากตำรวจไซเบอร์รวมกว่า 300,000 หมายเลข ทำให้สามารถแจ้งเตือนลูกค้ามือถือทรู ดีแทค และเน็ตบ้านทรูออนไลน์ ช่วยปกป้องภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที และในเดือนพฤษภาคมจะเพิ่มอีกฟีเจอร์ คือ SMS AI Filter แจ้งเตือน SMS ที่อาจเข้าข่ายหลอกลวงจากมิจฉาชีพ โดยใช้ AI ในการประมวลพฤติกรรมของมิจฉาชีพ มั่นใจว่า True CyberSafe จะเป็นบริการสำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ ช่วยปกป้องคนไทย ยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ลดโอกาสและความเสี่ยงจากความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เสมือนมีเกราะคุ้มกันภัยที่มั่นใจได้และมีประสิทธิภาพตลอดการใช้บริการของทรู
นายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญด้านระบบความปลอดภัยของผู้ใช้บริการแอป TrueMoney มาโดยตลอด ซึ่งบริษัทฯมอบการปกป้องจากการหลอกลวงทางการเงิน ยกระดับการป้องกันภัยให้เข้มข้นมากขึ้น ด้วยระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น “TrueMoney 3 x Protection” ตรวจ-จับ-หยุด ธุรกรรมแปลกปลอมที่มั่นใจได้มากกว่าสำหรับลูกค้าทรู ดีแทค ทุกครั้งใช้จ่ายผ่านแอป TrueMoney