news-details
Business

MD ใหม่ ธอส.ไฟแรง เตรียมพร้อมสนองนโยบายรัฐ หลังภาคอสังหาฯเข้าพบนายกฯ คาดสรุปผลภายใน 2 สัปดาห์

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 66 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 235,480 ล้านบาท โดยปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 3.84% ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 สินเชื่อคงค้าง 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% สินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล-กระทรวงการคลัง หลังภาคอสังหาฯยื่นหนังสือถึงนายกฯ คาดสรุปผลภายใน 2 สัปดาห์ หวังช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ผ่านมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้ว 3,853 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 4,544 ล้านบาท และในปี 2567 นี้ ธอส. พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น The Best Housing and Sustainable Bank ธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ภายหลังจากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ว่างเว้นตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ มาเป็นระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งมีการลุ้นมาตลอดว่าใครจะได้นั่งเก้าอี้อันทรงเกียรตินี้ จนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำเร็จเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) จึงได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ นายกมลภพ วีระพละ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. ในลำดับที่ 14 มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566  ที่ผ่านมา ซึ่ง นายกมลภพ ถือเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ด้วยคุณสมบัติและประสบการณ์ในการบริหารงานด้านสถาบันการเงินมามากกว่า 18 ปี ซึ่งสามารถสานต่องานด้านต่าง ๆ ของ ธอส. ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สอดคล้องกับพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ของธอส.

โดยหลังดำรงแหน่งกรรมการผู้จัดการ อย่างเป็นทางการมา 1 เดือนเศษ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้แถลงถึงผลการดำเนินงาน ณ ปี 2566 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ว่า ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังคงสามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลภายใต้การดูแลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีคุณภาพชีวิต และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ส่วนการที่ 7 องค์กรด้านอสังหาฯ ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากนายกฯ หวังเพิ่มมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ นั้น ธนาคารก็เตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือ คาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท 197,730 บัญชี สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 116,817 ราย อยู่ที่ 3.84% ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% มีสินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้และยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ โดยธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต และกำไรสุทธิที่ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.21% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%

 

ขณะเดียวกัน ธอส.ยังเดินหน้าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามความเหมาะสมต่อเนื่องจากปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการคลัง และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” ประกอบด้วย

1.มาตรการภาคครัวเรือน “HD1”
สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี

2.มาตรการภาคครัวเรือน “HD2” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท

3.มาตรการภาคครัวเรือน “HD3” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 4 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี ทั้งนี้ได้เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application :GHB ALL BFRIEND และสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ณ วันที่ 24 มกราคม 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 3,853 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 4,544 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธอส. ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND

“ปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2566 ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร ที่ถือว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ของเป้าหมายในปี 2566 ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว” นายกมลภพ กล่าว

 ทั้งนี้ ธอส.ยังพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน (The Best Housing and Sustainable Bank) ในปี 2570 ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาการเชื่อมโยงพันธมิตรด้านที่อยู่อาศัยให้เติบโตร่วมกันอย่างมั่นคง (Best Housing Ecosystem) ผ่านการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลายและสนับสนุนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชน รวมถึงสอดรับกับเมกะเทรนด์ในปี 2567 ทั้งด้านความยั่งยืน (Sustainable) ด้านนวัตกรรม (Innovation) ด้านสุขภาพ และด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ประกอบด้วย

-โครงการ Resale Home Ecosystem สร้างมูลค่าเพิ่มจากระบบนิเวศที่อยู่อาศัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่ขายบ้านมือสอง

-โครงการสินเชื่อ Green Loan จัดทำผลิตภัณฑ์และทำการตลาดสินเชื่อ
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน อาทิ
สินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซื้ออุปกรณ์ฯ เพื่อให้เป็นบ้านประหยัดพลังงาน (ECO House) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรกเพียง 2.80% ต่อปี สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการโครงการสินเชื่อเพื่ออาคารคาร์บอนต่ำ (Project Loan For Carbon Reduction Building)  ที่ต้องการปลูกสร้าง ต่อเติม ปรับปรุง ซ่อมแซม อพาร์ทเม้นท์ และผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาโครงการเพื่อปลูกสร้างบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรกเพียง 3.90% ต่อปี

-โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เพื่อดูแลประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น รองรับ Aging Society และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Reverse Mortgage : RM) สำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังจากเกษียณอายุ และโครงการสินเชื่อชำระหนี้ค่าไถ่ถอนการขายฝากที่อยู่อาศัย โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ที่นำบ้านและที่ดินไปจำนองขายฝากกับเจ้าหนี้นอกระบบ สามารถขอสินเชื่อเพื่อไถ่ถอนจำนองการขายฝากที่อยู่อาศัยกับธนาคารได้ โดยกำหนดวงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายต่อหลักประกัน

พร้อมกันนี้ ธอส. ยังเตรียมจัดทำ

-โครงการสินเชื่อเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าประชาชน กับสินเชื่อบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารไม่พิจารณาประวัติการผ่อนชำระหนี้ หรือสถานะในการทำข้อตกลงประนอมหนี้ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี หรือ 4.90% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.90% ต่อปี) และ 2. ลูกค้าใหม่ (รีไฟแนนซ์
จากสถาบันการเงินอื่นมายัง ธอส.) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 4%

-โครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล กับสินเชื่อพร้อมช้ สำหรับลูกค้าปัจจุบันที่ผ่อนชำระเงินงวดและเงินต้นลดลงอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำตามวงเงินต้นที่ลดลง เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร

นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อเป็นองค์กรสู่การมีธรรมาภิบาลที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งในปี 2566 ธนาคารได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 (NACC Integrity Awards) จากสำนักงาน ป.ป.ช. อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานสากล ISO 37001:2016 ระบบจัดการการต่อต้านการให้และรับสินบน (Anti-Bribery Management System: ABMS) ซึ่งธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการให้และรับสินบนตามมาตรฐานสากล ISO 37001 – Accredited by ANAB แห่งแรกของประเทศไทย ขณะเดียวกันยังพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อให้การบริการลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านระบบ GHB Digital Appraisal ยกระดับการให้บริการประเมินราคาทรัพย์ที่ลูกค้าประสงค์จะซื้อและมาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อประมาณการวงเงินอนุมัติเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงการยกระดับการให้บริการลงนามสัญญากู้เงิน โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการลงนามสัญญากู้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ GHB e-Contract แทนการใช้กระดาษ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

You can share this post!