news-details
Business

แผ่นดินไหว 8.2 แมกนิจูด จาก “เมียนมา”สะเทือน “ตลาดคอนโดฯกทม.”มูลค่ากว่า 458,390 ล้านบาท แนะภาครัฐบาลเร่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์”

คอลลิเออร์สฯเผยหลังแบงก์ชาติปลดล็อกชั่วคราวมาตรการ LTV ได้ไม่กี่วัน ดันยอดขายที่อยู่อาศัยพุ่ง แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวลามถึงกทม.หนักสุด หวั่นดับฝันตลาดอสังหาฯผงกหัวขึ้น โดยเฉพาคอนโดฯอาจมีผลในวงกว้าง ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการอยู่อาศัย อาจชะลอการซื้อออกไป ดึงยอดขายรวมช้าลงกว่าคาดการณ์เดิม แนะภาครัฐ-ผู้ประกอบการเร่งเสริมมาตรการความปลอดภัย ฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภค-นักลงทุน กลับคืน

 

นายภัทรชัย ทวีวงศ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา และมีความลึก 10 กิโลเมตร เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่สามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงที่สุด ประชาชนในหลายเขตสามารถสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเกิดความเสียหายที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณีของตึกสูงแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับตลาดนัดจตุจักร ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และได้พังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงแรม ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างรุนแรง โดยเกิดการพังทลายและความเสียหายทั้งในส่วนโครงสร้างและงานตกแต่งภายใน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของอาคารสูงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

 

แผนกวิจัยและการสื่อสารของคอลลิเออร์สฯมีกังวลว่า ผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคของตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของโครงสร้างอาคารและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในอาคารสูง นอกจากนี้ การประกาศผ่อนปรนมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน ถือเป็นสัญญาณบวกที่สามารถกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งหลังจากการประกาศผ่อนปรนดังกล่าว ภาพรวมอุปทานการเปิดขายใหม่ในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานครในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยพบว่ามีอุปทานเปิดขายใหม่รวม 5,509 ยูนิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 67.54 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 23,850 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบยืดเยื้อ อาจทำให้การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมในระยะต่อไป

โดยมองว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครในปีนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีอุปทานรอการขายในตลาดคอนโดมิเนียมสูงถึงกว่า 458,390 ล้านบาท การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความมั่นคงของโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะในอาคารสูงที่มีโครงสร้างซับซ้อนและต้องรับมือกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสียหายทั้งในส่วนของโครงสร้างและระบบต่างๆ ภายในอาคาร เหตุการณ์นี้จึงสร้างความไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างและความปลอดภัยของอาคารคอนโดมิเนียมในอนาคต ส่งผลให้บางกลุ่มลูกค้าที่กำลังตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมอาจชะลอการตัดสินใจออกไป เพื่อเฝ้าดูสถานการณ์และความถี่ของแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาจจะระมัดระวังในการเลือกซื้อคอนโดมิเนียมที่มีความสูงมากขึ้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงมาตรการในการออกแบบและก่อสร้างที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความวิตกกังวลนี้อาจจะยืดเยื้อและส่งผลให้การขายคอนโดมิเนียมในปีนี้ดำเนินไปได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่ยังมีสินค้าคงค้างอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ ความไม่มั่นใจในคุณภาพของอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจทำให้ผู้บริโภคต้องพิจารณาปัจจัยด้านความปลอดภัยและคุณภาพการก่อสร้างเป็นหลักมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้พัฒนาโครงการที่จะต้องหาวิธีการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อในช่วงนี้

“อยากให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนช่วยผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างอาคารสูงที่สามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่เสร็จแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถสนับสนุนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการปรับปรุงหรือเสริมความปลอดภัยให้กับโครงการ ผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษหรือการให้เงินสนับสนุนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร อีกทั้งควรมีการสื่อสารข้อมูลและสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบถึงความปลอดภัยของอาคารที่อยู่ในตลาด”นายภัทรชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยสร้างอาคารที่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถพัฒนาระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันเวลา ทั้งนี้การดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

 

You can share this post!