บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส จัดสัมมนาหัวข้อ “การสร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีการจัดการเหตุเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่แบบพกพาในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าสายสีทอง” ณ ห้องสุรศักดิ์ บอลรูม โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร
โดยมีนายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ ประธานในพิธี พร้อมด้วยนางสาวนริศรา ศรีสันต์ ที่ปรึกษากลยุทธ์สื่อสารองค์กร และนายณัฐชัย ผะเดิมชิต ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัย
เข้าร่วมรับฟังงานสัมมนา ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วม เข้าใจถึงสาเหตุ และความรุนแรง กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในระบบรถไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบพกพา รวมถึงเข้าใจในขั้นตอนการจัดการเหตุการณ์ เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ และหน่วยงานบริการเหตุฉุกเฉินภายนอก ต่อการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัย
โดยในงานสัมมนา ได้มีการสาธิต “บทบาทหน้าที่ของผู้จัดการเหตุการณ์ (Incident Manager : IM) และผู้ช่วยผู้จัดการเหตุการณ์ (Assistant Incident Manager : AIM) ” ในการแก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการเสวนาหัวข้อ “การจัดการเหตุเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่แบบพกพาในระบบรถไฟฟ้า” โดยมีวิทยากรรับเชิญ 4 ท่าน เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ พ.ต.ท.หญิง ดร.สุพัตรา สัชนา นักวิทยาศาสตร์ (สบ 3) กลุ่มงานเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง พ.ต.ท.หญิงสุภาพร บุญมาก นักวิทยาศาสตร์ (สบ 3) กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นายนารอน แสนทวีผล หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ และนายจักรกฤษณ์ คงคำ หัวหน้าสถานีดับเพลิง
และกู้ภัยพระโขนง
นายสุมิตร เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาระดมความรู้ และรับฟังความเห็น นำไปปรับปรุงการปฏิบัติงาน ให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร เป็นสิ่งที่บีทีเอสดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเผชิญเหตุ
ในหลากหลายกรณี เช่นเดียวกับในครั้งนี้ ที่หัวข้อเรื่องแบตเตอรี่แบบพกพา ถูกนำมาใช้เป็นหัวข้อหลักในการสัมมนา เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย และบางชิ้นมีความจุแบตเตอรี่สูง เมื่อเกิดเหตุชำรุด หรือเสียหายอาจนำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดจากแบตเตอรี่แบบพกพา
จึงเป็นสิ่งที่บีทีเอสให้ความสำคัญ และจะนำข้อมูลความรู้ที่ได้รับจากทุกหน่วยงาน มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในพื้นที่ขบวนรถ และสถานีรถไฟฟ้า และในอนาคตอาจมีการออกกฎ เพื่อดูแลการใช้งานแบตเตอรี่แบบพกพาให้เหมาะสม หากผู้โดยสารต้องนำเข้าสู่พื้นที่ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส
นอกจากนี้บีทีเอสกำลังพิจารณานำผ้าห่มกันไฟ (Fire Blanket) มาใช้ในพื้นที่ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะเป็นวัสดุที่สามารถนำมาใช้ในการดับไฟเบื้องต้น หรือป้องกันไม่ให้เพลิงไหม้เกิดการลุกลามได้ เนื่องจากผ้ากันไฟจะทำหน้าที่ลดปริมาณก๊าซออกซิเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเกิดไฟ เมื่อควบคุม
ในส่วนนี้ได้ไฟก็จะดับลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากผู้โดยสารพบเหตุฉุกเฉิน หรือเพลิงไหม้ ภายในขบวนรถไฟฟ้า สามารถกดปุ่มกระดิ่ง หรือ Passenger Communication Unit (PCU) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณข้างประตู เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า
และทางเจ้าหน้าที่ จะทำการประสานงานผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือในสถานีถัดไป ซึ่งมาตรการ
ด้านความปลอดภัยเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน และผู้โดยสารมากที่สุด
พ.ต.ท.หญิง ดร.สุพัตรา กล่าวว่า ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ควรมีการทบทวนมาตรการความปลอดภัย และข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำแบตเตอรี่พกพาเข้าระบบรถไฟฟ้า รวมถึงควรพิจารณาเพิ่มเติมข้อจำกัดหากมีความเป็น และต้องฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แบตเตอรี่ พร้อมติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับควันภายในขบวนรถ เพื่อแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ด้านการประชาสัมพันธ์ ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการพกพาแบตเตอรี่สำรองที่ถูกต้อง นอกจากนี้
ควรให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของแบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐาน และแจ้งเตือนผู้โดยสาร ให้ระมัดระวังการใช้แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ หรือชำรุด
พ.ต.ท.หญิงสุภาพร ระบุว่า เมื่อเกิดเพลิงไหม้แบตเตอรี่ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส เจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และศูนย์ควบคุมการเดินรถทันที ซึ่งในกรณีที่ไฟยังไม่ดับ สามารถใช้ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) หรือถังดับเพลิงสารเคมีแห้งในการดับไฟได้ แต่ห้ามใช้น้ำดับไฟเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดไฟลุกซ้ำ ทั้งนี้หากเกิดเหตุเพลิงไหม้แบตเตอรี่ในขบวนรถ ควรนำขบวนรถไปจอดในจุดที่ปลอดภัย และไม่รบกวนการเดินรถ พร้อมกับเร่งอพยพผู้โดยสาร เพื่อป้องกันอันตรายจากควันไฟ หรือสารเคมี และห้ามเคลื่อนย้ายแบตเตอรี่ ที่เกิดเพลิงไหม้ จนกว่าตำรวจพิสูจน์หลักฐานจะเข้าตรวจสอบ
นายนารอน กล่าวว่า หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเพลิงไหม้แบตเตอรี่แบบพกพา ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และขั้นตอนต่อไปให้ดำเนินการแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง เช่น หมายเลขด่วน 191 แจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ, หมายเลขด่วน 199 แจ้งเหตุเพลิงไหม้ กับสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และหมายเลขด่วน 1669 แจ้งขอความช่วยเหลือ
ทางการแพทย์ กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สำหรับข้อมูลสำคัญในการแจ้งเหตุผ่านหมายเลขด่วน 1669 คือตำแหน่งจุดเกิดเหตุ, เบอร์โทรผู้แจ้ง และข้อมูลผู้บาดเจ็บเบื้องต้น และทางเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเพิ่มเติม หากจำเป็นต้องปฐมพยาบาล แก่ผู้บาดเจ็บระหว่างรอรถพยาบาล
นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า การสูญเสียชีวิตขณะเกิดเพลิงไหม้ ส่วนใหญ่มาจากเหตุควันไฟ และควันไฟที่ไม่ได้
มาจากธรรมชาติในแบตเตอรี่แบบพกพา ยิ่งมีความอันตรายมาก หากรถไฟฟ้าบีทีเอสสามารถนำผ้าห่มกันไฟ
(Fire Blanket) หรือ ม่านกันควัน และกันไฟ (Smoke & Fire Curtains) มาใช้ในขบวนรถได้ ก็จะช่วยป้องกันอันตรายให้กับผู้โดยสาร และป้องกันการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้มากขึ้น โดยเฉพาะม่านกันควัน และกันไฟ ที่จะช่วยเก็บควัน และไฟในสถานที่เกิดเพลิงไหม้ ช่วยลดความเร็วในการแพร่กระจาย ทำให้มีเวลามากขึ้น
สำหรับการอพยพฉุกเฉิน
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บีทีเอส โทรศัพท์ 02 - 617- 6000 Line official : @btsskytrain หรือเช็กสถานะการเดินรถได้ที่ Application ‘The SKYTRAINs’ และ Facebook Page : รถไฟฟ้าบีทีเอส
ขอขอบพระคุณ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร