news-details
Business

บาท"อ่อนค่าลงหนัก" เปิดเช้านี้ 34.38 บาท/ดอลลาร์ หลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่รุนแรงกว่าคาด

เงินบาท"อ่อนค่าลงหนัก" เปิดเช้านี้ 34.38 บาท/ดอลลาร์ หลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ รุนแรงกว่าที่ตลาดประเมิน กรุงไทย คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์ ลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.38 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่าลงหนัก" จากระดับปิด วันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.16 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 34.07-34.45 บาทต่อดอลลาร์) หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่สินค้านำเข้าจากประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 36% (ลดลงจากที่ทางการสหรัฐฯ ประเมินไว้ 72%) ซึ่งการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าดังกล่าวนั้นสูงกว่าที่ตลาดได้ประเมินไว้พอสมควร กดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังการประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างหลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ก็ทยอยอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของนโยบายการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 39% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง ในปีนี้

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนมีนาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะหลังตลาดได้รับรู้มาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าคาดพอสมควร

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ ในเดือนมีนาคม ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด สะท้อนถึง ภาวะขยายตัว)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ และจากการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาท (USDTHB) ได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง โดยเงินบาทเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่อาจทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ กลับมาขายสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทยเพิ่มเติม หลังมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง มาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) นั้นมีความรุนแรงมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (สินค้านำเข้าจากไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงถึง 36% ซึ่งสูงกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ในโซน 20%-25%) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าว อาจถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนอย่างฝั่งผู้ส่งออก นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ก็กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง แทนที่จะแข็งค่าขึ้นชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความเชื่อมั่นในธีม US Exceptionalism อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์นั้นเสี่ยงเผชิญความผันผวนแบบ Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ว่าจะออกมาอย่างไร และทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หรือไม่

เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งจะเริ่มจากยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย จนถึงรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 21.00 น. โดยสถิติย้อนหลัง 1 ปี สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัวระดับ +/- 1 SD ได้ราวถึง +/-0.20% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ)

You can share this post!