news-details
Business

“พิชัย ชุหวชิร”เตรียมเจรจาขอเพิ่มปริมาณการค้ากับสหรัฐฯรับมือ “ทรัมป์”ปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่ม 36% ระบุหากอยู่เฉยหวั่น GDP ดิ่งติดลบ 1%

“พิชัย”เผยหลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน วางแผนรับมือนโยบายปรับภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่รีดเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% ผลสรุปที่ประชุมมีมติรัฐบาลเร่งเจรจาการค้าด่วน เตรียมขอเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับไทยเพิ่มเป็น 80,000 หรือ100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ระบุหากไม่ทำอะไรเลยหวั่น GDP ติดลบ 1% แน่

 

นายพิชัย ชุหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อวางแผนรับมือการปรับขึ้นอัตราภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า การหารือในครั้งนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สภาอุตสาหกรรมการแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยต้องรีบไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยเร็วที่สุด ซึ่งในระหว่างนี้ รัฐบาลไทยต้องเร่งปรับกระบวนทัพใหม่ทั้งหมดเพื่อทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีใหม่ที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บสูงถึง 36% ไม่ใช่กับไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังใช้กับหลายๆ ประเทศ ที่ขึ้นอัตราภาษีแบบเท่าเทียมกันหมด 10% ที่เกิดขึ้นดุลการค้า และขึ้นอัตราภาษีเป็นรายประเทศ แตกต่างกัน

หากรัฐบาลไทยไม่ทำอะไรเลย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ หรือ GDP ติดลบ 1% แต่ขณะนี้ ได้วางแผนรับมือเอาไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีรายละเอียด เพราะตอนนี้ ฝุ่นตลบ แต่คาดว่า 2-3 วันข้างหน้าจะมีการเจรจากับทางสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยในฝั่งไทยต้องเตรียมความพร้อมไปเจรจาด้วย โดยเสนอเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับไทยให้มีมากขึ้น จาก 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดุลการค้าที่เกินดุล ที่ระดับ 70% ต้องลดลงมาเหลือ 30% เพื่อสร้างความสมดุลโดยไม่ได้มองว่า ไทยเอาเปรียบสหรัฐฯ มากเกินไป” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อทราบในสิ่งที่สหรัฐฯ คิดแล้ว กระทรวงการคลังก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทัน โดยหลักการเบื้องต้นคือ

1.ปรับสมดุลการค้าให้เหมาะสมและยินยอมให้สินค้าจากสหรัฐฯ เข้าไทยได้มากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่จำกัดปริมาณ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2.ปรับลดอัตราภาษีลง เพื่อให้สินค้าของสหรัฐฯ ขายได้ เช่น มอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน Harley-Davidson ที่มีอัตราภาษี 60-80% ทั้งที่ซื้อขายได้น้อยมากก็ต้องลดอัตราภาษีลงมาและ 3.ลดการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ ภาษี เช่น ห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น

“ความเห็นตอนนี้ เรารู้แล้วว่า สหรัฐฯ ต้องการอะไร คือต้องลดการขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัก โดยเขามองว่า ประเทศต่างๆ เหล่านี้ ได้เปรียบสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีการค้าการขายกับสหรัฐฯ รวมอยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้า หรือค้าขายได้เปรียบสหรัฐฯ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 70% เพราะอะไร เนื่องจากไทยตั้งกำแพงภาษีเอาสูงๆ ทำให้สินค้าของสหรัฐฯ นำเข้ามาในไทย มีราคาแพงและขายไม่ออก” นายพิชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ และฮาร์ดไดรฟ์ โดยนำสินค้าเหล่านี้ เข้ามา แล้วส่งออกไปสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่งนั้น ประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเน้นเรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า (Certificate of Origin) เพื่อรับรองว่า สินค้าเหล่านี้ จริงๆ แล้ว ผลิตที่ประเทศไทยไม่ ใช่นำเข้าสินค้ามาแล้วส่งออกเพื่ออาศัยใบรับรองฯ จากไทย ตรงนี้ ฝ่ายไทยต้องเข้มงวด เพราะหากเป็นการลงทุนจริงๆ จะมีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก

You can share this post!