เงินบาท"แข็งค่า" เปิดเช้านี้ 34.17 บาท/ดอลลาร์ คลายกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ หลัง"ทรัมป์"ระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ เป็นเวลา 90 วัน กรุงไทย คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.35 บาท/ดอลลาร์ จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.17 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นมาก" จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.58 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.94-34.69 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง หลังล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน กับบรรดาประเทศต่างๆ ยกเว้นจีน ที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 125% เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าล่าสุดของทางการจีน ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงสหรัฐฯ ที่กลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ทยอยอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ (ลดลงจากที่เคยมองว่า เฟดอาจต้องลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง ในปีนี้)
ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.50%
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน หลังทางการสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเป็น 125%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญ คือ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ทว่า เรามองว่า ราคาทองคำก็อาจยังไม่ได้มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นไปมากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดในช่วงนี้ อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม กอปรกับ ในช่วงตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า ความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงสหรัฐฯ และจังหวะการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจพอช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ทำให้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ แต่หากเงินบาท (USDTHB) กลับมาแข็งค่าขึ้นหลุดโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ชัดเจน เงินบาทก็อาจกลับเข้าสู่ช่วง Sideways หรือมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following
อนึ่ง เรามองว่า ในช่วงเดือนเมษายน จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม เงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าที่สำคัญ อย่าง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังพอมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ แม้ว่า ตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้างในช่วงนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กับบรรดาประเทศคู่ค้า ทว่าสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนเป็น 125% ทำให้เรามองว่า ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังมีความร้อนแรงอยู่ ซึ่งอาจกดดันให้ เงินหยวนจีนมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways ซึ่งในช่วงนี้ เงินบาทก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (โดยเฉพาะ เงินหยวน Offshore) สูงกว่า 70% ทำให้ หากเงินหยวนจีนอ่อนค่าลง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย และเงินบาทได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)