news-details
Business

“ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง” ประกาศยึดคืน “ณุศาศิริ”เตรียมปลด “วิษณุ-ศิริญา” พ้นตำแหน่ง

“ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง” เตรียมยึดคืน “ณุศาศิริ” โดยใช้สิทธิ์ตามมาตรา 100 จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 29 ก.พ.นี้ พิจารณา 9 วาระเดือด ปลด “วิษณุ - ศิริญา เทพเจริญ” พ้นตำแหน่งกรรมการบริษัท พร้อมเสนอตั้งกรรมการใหม่ และให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาเบรกแผนการขายทรัพย์สินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 70% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ที่ฝ่ายบริหารปัจจุบันเตรียมการไว้

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่ประกาศที่ บริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ใช้สิทธิ์ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น NUSA ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 29 ก.พ.2567 เสนอวาระการประชุม 9 วาระ ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การเสนอถอดถอนนายวิษณุ เทพเจริญ ออกจากตำแหน่งทั้งประธานคณะกรรมการ และตำแหน่งกรรมการ พร้อมถอดถอนนางศิริญา เทพเจริญ และนายสมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์ ออกจากตำแหน่งกรรมการ ตลอดจนเสนอเปลี่ยนขั้วให้นายประเดช กิตติอิสรานนท์ นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ และนายไพโรจน์ ศิริรัตน์ กรรมการบริษัท 2 ใน 3 ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทแทน

ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าวระบุสาเหตุการเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาปลด 3 กรรมการ คือ นายวิษณุ นางศิริญา และนายสมพิจิตร จากสาเหตุที่ NUSA ไม่สามารถชี้แจง ตลท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อย่างปราศจากข้อสงสัย โดยเฉพาะธุรกรรมการซื้อกิจการโรงแรมในประเทศเยอรมนี ที่เปลี่ยนเป็นการเข้าซื้อบริษัทที่มีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน 407 ล้านบาท ที่ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในงบการเงินของบริษัท นอกจากนี้ยังมีประเด็นการนำทรัพย์สินของบริษัทออกขายให้ผู้ซื้อที่เกี่ยวข้องบุคคลใกล้ชิด คือ การจำหน่ายโครงการบ้านกฤษณา - พระราม 5 โดยไม่ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ จนถูกตรวจสอบพบในภายหลัง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่าราคาซื้อขายไม่สมเหตุสมผล และให้เพิกถอนธุรกรรมดังกล่าวออกไปในที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีวาระให้พิจารณาแผนการจำหน่ายทรัพย์สินที่ฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันเตรียมการไว้ คือการจำหน่ายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ และกระแสเงินสดให้กับ NUSA อย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้การจำหน่ายหุ้น WEH ที่บริษัทถือครองอยู่ จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีขนาดรายการเท่าใดก็ตาม

โดยวาระนี้สอดรับกับความต้องการของผู้ถือหุ้นรายย่อย NUSA ที่คัดค้านแผนการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท และได้รวมตัวกันไปร้องเรียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 เพื่อให้ตรวจสอบแผนการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทฯ ทั้ง 6 รายการที่เป็นธุรกรรมขนาดใหญ่ มีมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือมากเกือบ 70% ของสินทรัพย์รวมทั้งบริษัท

 

 

 

 

 

You can share this post!