นายกสมาคมอสังหาฯเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเป็นรูปแบบ K-shape เช่นเดียวกับภาคอสังหาฯ ระบุตลาดบ้านหรูยังไม่พอขาย รายใหญ่หันมาผนึกกำลังฝ่าวิกฤติ ส่วนรายเล็กยังเผชิญหลากความท้าทาย ต้องพับแผนผุดโครงการใหม่ จับตาจีนเปลี่ยนเทรนด์หันเช่าบ้านหรูมากกว่าซื้อ แต่กว้านซื้อโรงแรม โรงงาน โรงเรียน และโรงพยาบาล ต่อยอด ห่วงธุรกิจอาคารสำนักงาน 2 ปีนี้มีซัพพลายใหม่ทะลักสู่ตลาดหลายแสนตารางเมตร ขณะที่อาคารเก่าหากไม่รีโนเวท อยู่ยากแน่ ด้านนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุ GDP ยังต่ำ-หนี้ครัวเรือน-ดอกเบี้ยสูง ส่งผลการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 3 ล้านบาทชะลอตัว เพราะถูกแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อมาก ส่วนบ้านระดับบนยังมีดีมานด์ต่อเนื่อง คาดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 ช่วกระตุ้นตลาดไตรมาส 1/67 ค่ายใหญ่ติดใจยอดขายพุ่ง ขยายพื้นที่เพิ่มหลายเท่าตัว
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่า ยังคงเป็นรูปแบบ K-shape ซึ่งเป็นภาพเดียวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในขณะนี้ ส่งผลต่อให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆเริ่มหันไปพัฒนาโครงการบ้านหรู ที่จับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาซัพพลายบ้านหรูยังไม่เพียงพอต่อดีมานด์ ขณะเดียวกันการแข่งขันของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆจะเริ่มลดลง แต่หันมาจับมือร่วมดำเนินธุรกิจกันมากขึ้น เพื่อช่วยกันสร้างฐานลูกค้าและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (Market share) ร่วมกัน หลังจากที่เห็น 2 ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2 รายใหญ่ประกาศจับมือร่วมกันเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็กในตลาด ยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านของการขายและการพัฒนาโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็กจะพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด และเป็นบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อภาพของเศรษฐกิจไม่ดี มีการลดชั่วโมงOvertime ลดการจ้างงานลง หันมาใช้ระบบ Automation ทดแทนคนมากขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็กมีกำลังซื้อลดลง และชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้จะเห็นว่าโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมมีบ้านเหลือขายจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี ประกอบกับการเข้าถึงสินเชื่อมารองรับการพัฒนาโครงการที่ยากขึ้น จากสถาบันการเงินที่เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ปี 2567 จะเป็นปีที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็กชะลอการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น
ด้านนักลงทุนชาวจีน ที่ก่อนหน้านี้กลุ่มกองทุนจะเน้นการซื้อบ้านหรูและนำมาตกแต่งเพื่อขายต่อชาวจีนด้วยกัน แต่เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมาเทรนด์ได้เปลี่ยนเป็นปล่อยเช่ามากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นทำเลถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เพราะเศรษฐกิจในประเทศจีนยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร ยกเว้นกลุ่มคนจีนที่มีฐานะ ก็จะมาซื้อเพื่ออยู่อาศัยและทำธุรกิจในประเทศไทยโครงการบ้านหรูของผู้ประกอบการคนไทยในย่านดังกล่าว ปรับราคาขึ้นมาสูงถึงเท่าตัว อีกทั้งล่าสุดนักลงทุนชาวจีนยังนิยมลงทุนซื้อโรงแรม โรงงาน และโรงแรมระดับอินเตอร์เนชั่นแนล มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจซื้อธุรกิจโรงพยาบาลด้วย แต่มองว่าธุรกิจโรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินการได้ง่าย เพราะต้องแข่งขันกับเชนโรงพยาบาลไทย และอีกหลายองค์ประกอบ นอกจากนักลงทุนชาวจีนแล้ว ที่น่าสนใจและเป็นกลุ่มลูกค้าที่กำลังมาแรงคือ ไต้หวัน และ เมียนมา ที่สนใจซื้อที่อยู่อาศัยที่มียูนิตขนาดใหญ่ หรือ ห้องแบบเพนท์เฮาส์ มากขึ้น
แต่เซกเมนต์ที่น่าเป็นห่วงคือ อาคารสำนักงาน ที่ตั้งแต่ปี 2567-2568 จะมีซัพพลายใหม่ออกสู่ตลาดอีกหลายแสนตารางเมตร ขณะเดียวกันอาคารสำนักงานเก่า ก็จะต้องมีการรีโนเวท หากไม่ปรับตัวก็ไม่สามารถอยู่ในตลาดได้
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2567 ยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2567 ออกมาค่อนข้างต่ำ เพียง 1.8% ทำให้รายได้ของครัวเรือนยังค่อนข้างจำกัด และมีหนี้สินครัวเรือนที่สูง ประกอบกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาสูง ทำให้การตัดสินใจซื้อชะลอ และการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินมีควลมเข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยระดับต่ำกว่า 3 ล้านบาท หรือราคา 4-5 ล้านบาท ก็ยังเป็นกลุ่มที่มีการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ค่อนข้างมาก โดยกลุ่มที่เป็นแรงหนุนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องในปี 2566 และปี 2567 มองว่ายังคงเป็นกลุ่มระดับราคา 7-10 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อที่สูงและไม่ค่อยได้รับผลกระทบและอ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ ทำให้จะเห็นว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆยังคงเดินหน้าโครงการระดับบนต่อเนื่องในปี 2567
สำหรับการจัดงานงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2567 นั้นจะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ไนช่วงไตรมาส 1/2567 ได้อย่างมากในช่วงต้นปีนี้ หลังจากที่เห็นจากการจองบูธของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เข้ามาจองบูธในงานเป็นจำนวนมาก ซึ่ง 3 อันดับแรกที่จองบูธในงานจำนวนมาก ได้แก่ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) หรือ ORI, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ ANAN และ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) หรือ SIRI สะท้อนภาพความเชื่อมั่นของการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด สามารถสร้างยอดขายได้ดี และเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถนำโครงการต่างๆมานำเสนอแก่ผู้ที่สนใจซื้อบ้านได้ และมีต้นทุนการจัดงานที่น้อยกว่าการที่ไปจัดงานเองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่ละราย ทำให้คาดว่าความคึกคักของงานในต้นปี 2567 จะมีมากขึ้น และสามารถทำให้ภาพรวมของยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 1/2567 ทำสถติสูงสุดได้ในรอบ 5 ปี เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเร่งทำยอดขายในช่วงต้นปีไว้ก่อน จากความไม่แน่นอน และความผันผวนของเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆยังมีอยู่มาก
“เราเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่การจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 44 แล้ว ว่ามีบริษัทรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บางรายที่หายไปจากการร่วมงานหลายปี และเมื่อปีที่ผ่านมาได้มาร่วมงาน จำนวน 8 บูธ ปรากฏว่าสามารถทำยอดขายได้ดี ในปี 2567 นี้ จึงกลับมาร่วมงานครั้งที่ 45 อีกครั้ง และเพิ่มพื้นที่ในการจัดงานเป็น 20 บูธ สะท้อนความคิดของหลายๆคนก่อนหน้านั้นว่า งานมหกรรมฯมีประสิทธิภาพที่ลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้บรรยากาศการจัดงานมหกรรมฯมีผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง”นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความหวังของภาคอสังหาริมทรัพย์ในการที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคัก ส่วนหนึ่งยังคาดหวังมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ได้ยื่น 8 ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานกลุ่มย่อยกำลังพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการที่จะผลักดันออกมา ซึ่งยังคงต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ที่ยังคงต้องประสานงานในการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณาอย่างเหมาะสม และการขอให้ปรับหลักเกณฑ์การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ที่ขยายราคาซื้อที่อยู่อาศัย จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม หลังจากขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองไปแล้วถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สำหรับราคาซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ทำให้การทำงานของคณะทำงานยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าจะผลักดันออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม