news-details
Business

เงินบาท"แข็งค่าเล็กน้อย" เปิดเช้านี้ 33.19 บาท/ดอลลาร์

เงินบาท"แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" เปิดเช้านี้ 33.19 บาท/ดอลลาร์ กรุงไทยคาดสัปดาห์นี้ จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.95-33.65 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้น รายงานเศรษฐกิจสำคัญทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.19 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 33.27 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.15-33.46 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีผลกดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 146 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนในช่วงเช้าของวันจันทร์ หลัง Moody’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จากระดับ Aaa สู่ระดับ Aa1 ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเข้าถือทองคำและเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) โดยเฉพาะในช่วงที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงของการร่าง Fiscal Bill กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงกลับมาใกล้เคียงระดับ ณ ช่วง 17.00 น. ของ วันศุกร์ที่ผ่านมา (Round Trip สำหรับดัชนีเงินดอลลาร์)


สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐฯ ยุโรป และจีน พร้อมทั้งรอติดตาม ประเด็นการเมืองสหรัฐฯ (ที่อยู่ในช่วงการร่าง Fiscal Bill) รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม ที่อาจสะท้อนถึงผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการบริการ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังอยู่ในช่วงการร่าง Fiscal Bill ซึ่งอาจมีเป้าหมายในการขยายเวลามาตรการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา (Tax Cuts and Jobs Act หรือ TCJA) ที่จะจบลง ณ สิ้นปี 2025 รวมถึงการลดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และนอกเหนือจากประเด็นการเมืองดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า พร้อมทั้ง รอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ในปี 2025 และเฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 2 ครั้ง ในปี 2026

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนพฤษภาคม รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนเมษายน พร้อมรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุม ECB ล่าสุด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนพฤษภาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ด้วยเช่นกัน

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนเมษายน อย่าง ยอดค้าปลีก รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี อาจถูกปรับลดลงสู่ระดับ 3.00% และ 3.50% ตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางจีน (PBOC) เพื่อรับมือแรงกดดันจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนพฤษภาคม รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนเมษายน ในส่วนนโยบายการเงินนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.85% และ 5.50% ตามลำดับ ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

▪ ฝั่งไทย – เรามองว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยสำหรับไตรมาสแรก ปี 2025 อาจยังได้แรงหนุนจาก การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ตามการเร่งนำเข้าสินค้าไทยก่อนเผชิญผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยว ก็ยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อเศรษฐกิจ ทว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ส่งผลให้ การลงทุนภาคเอกชนอาจชะลอตัวลงพอสมควร เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่อาจไม่ได้ขยายตัวดีมากนักในไตรมาสแรก ทั้งนี้ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ทั้งปี 2025 เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวราว +2%y/y

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังมีกำลังอยู่ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทสูงถึง 82% (จาก 1-month correlation) เพราะ แม้ราคาทองคำอาจอยู่ในช่วงการพักฐานและเสี่ยงย่อตัวลงบ้าง แต่ก็อาจมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน ที่อาจผันผวนได้พอสมควรในสัปดาห์ที่ตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน อนึ่งเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาจสูงราว 9.5 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์ ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้บ้าง ในเชิงเทคนิคัลนั้น แนวรับของเงินบาท (USDTHB) อาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าขึ้น และอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ในปีนี้ โดยทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ จะออกมาอย่างไร เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.95-33.65 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.40 บาท/ดอลลาร์

You can share this post!