กรมทางหลวงชนบท ส่งเสริมเศรษฐกิจภาคการขนส่งสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
หนุนการคมนาคมระหว่างจังหวัด รองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต สร้างถนนสาย ฉช.2004 จ.ฉะเชิงเทรา ตอนที่ 1 รุดหน้า 78% คาดแล้วเสร็จในปี 2568 พร้อมเดินหน้าสานต่อ ตอนที่ 2 คืบหน้า 14% คาดแล้วเสร็จกลางปี 2570
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้รายละเอียดว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.2004 แยก ทล.34 - ทล.314 อำเภอบางปะกง, เมือง
จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยถนนสายดังกล่าวเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่าง ทล.34 (บางนา - ตราด) กับถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 (ลาดกระบัง - ฉะเชิงเทรา) เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรากับจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้
เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจการขนส่งและรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
เป็นการเพิ่มศักยภาพภาคเศรษฐกิจการคมนาคมอย่างเป็นระบบ สนับสนุนการขนส่งของนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์กับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ ทั้งยังเชื่อมโยงการเดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า แก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่น และช่วยพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่าง
มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
ตอนที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างขยายถนน ตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 6+500 ถึง กม.ที่ 10+925 ระยะทาง 4.425 กิโลเมตร ผิวจราจรแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 3 เมตร ทางเท้ากว้าง 3.40 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยกำแพงคอนกรีต เขตทางกว้าง 30 เมตร และ 44.30 เมตร
พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลอง จำนวน 2 แห่ง ปัจจุบันผลงานการก่อสร้างเดินหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 78 ขณะนี้อยู่ระหว่างงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก งานโครงสร้างทาง งานผิวจราจร งานปูทางเท้า และงานไฟฟ้าแสงสว่าง โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 นี้ โดยใช้งบประมาณ
ในการก่อสร้างรวม 549.50 ล้านบาท
สำหรับตอนที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างขยายถนน ตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 6+500 ระยะทาง 6.500 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรถนนแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 3 เมตร ทางเท้ากว้าง 3.40 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกําแพงคอนกรีต เขตทางกว้าง
30 เมตร และ 44.30 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลอง จำนวน 2 แห่ง และสะพานข้าม ทล.7 (มอเตอร์เวย์) จำนวน 1 แห่ง ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 14 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนงานโครงสร้างทาง ได้แก่ งานรื้อโครงสร้างเดิม โครงสร้างระบายน้ำ งานเสาเข็มเจาะสะพานข้ามมอเตอร์เวย์ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2570 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 869.8 ล้านบาท