news-details
Business

กรมการขนส่งทางราง ครบรอบ 6 ปี มุ่งมั่นพัฒนาระบบรางไทยสู่มาตรฐานสากล

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางราง ครบรอบ 6 ปี โดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเข้าร่วมเพื่อแสดงความยินดี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัด คค. ผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งภายในงานมีการจัดพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำ ขร. พิธีสวดมนต์และถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยมีพระราชวชิรคณี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา และเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และกิจกรรมร่วมแสดงความยินดีจากหน่วยงานต่าง ๆ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี แห่งการก่อตั้งกรมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางรางได้เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้ระบบรางของไทยมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งในด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้า โดยยึดหลัก “ความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย” เป็นสำคัญ

การดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ขับเคลื่อนตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการตามมาตรฐานสากล และการส่งเสริมการใช้ระบบรางให้เป็นระบบหลักของประเทศ โดยมีผลงานสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

- ขยายผลนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งพบว่ามีผลตอบรับดีในสายสีแดงและสีม่วง โดยมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2568 เตรียมขยายผลไปยังสายอื่น ๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและส่งเสริมการใช้ระบบราง

- ผลักดันพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง และการจัดทำกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จ 17 ฉบับ เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลระบบรางให้ได้มาตรฐานสากล

- เร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายทางราง ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าในเขตเมือง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุ และเชื่อมโยงระบบรางทั้งในและต่างประเทศ

- ขออนุมัติโครงการใหม่ เช่น รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2

- เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง โดยมีการศึกษาพัฒนาระบบรางในเมืองหลักและพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมตามแผน R-MAP อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างประเทศ ทั้งไทย-ลาว ไทย-มาเลเซีย และไทย-กัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการเดินทางข้ามพรมแดน พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย โดยจัดทำมาตรฐานการตรวจสภาพรถ ระบบระบายน้ำ และอัตราค่าบริการ พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เช่น แอปพลิเคชัน BKK Rail และ DRT Crossing ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

ทั้งนี้ ผลจากความทุ่มเทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้กรมการขนส่งทางรางได้รับ รางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2567 จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลรัฐบาลดิจิทัล รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการทำงานหรือการให้บริการ หน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่น ๆ เป็นหลัก และรางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation) หน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่น ๆ เป็นหลัก ตอกย้ำความก้าวหน้าในการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้รับรางวัลด้านการบริหารจัดการการเงินการคลัง จากกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีก 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลประกาศเกียรติคุณด้านปลอดความรับผิดทางละเมิด ระดับ "ดีเด่น" รางวัลประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่มีการพัฒนาการปฏิบัติงานด้านการเงินการคลัง (ด้านการเบิกจ่าย) และรางวัลประกาศเกียรติคุณส่งเสริมความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังซึ่งสะท้อนถึงการบริหารจัดการงบประมาณที่โปร่งใสและมีมาตรฐาน

นายพิเชฐ กล่าวตอนท้ายว่า กรมการขนส่งทางรางมุ่งมั่นพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความมั่นใจในความปลอดภัย ความสะดวก และความทันสมัยของระบบรางไทย พร้อมเชื่อมโยงไทยสู่ภูมิภาคและระดับสากล

You can share this post!