“เสนาดีเวลลอปเม้นท์” ขานรับมาตรการกระทรวงพลังงานที่เตรียมส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ด้วยการนำมาหักลดหย่อนภาษีประจำปีได้ แนะรัฐเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้นด้วยมาตรการระยะยาว ทั้งการเพิ่มปริมาณรับซื้อ อัตราค่าไฟรับซื้อที่เหมาะสม รวมถึงการปลดล็อกข้อจำกัดขนาดหม้อแปลงให้ได้มากกว่า 15% ของขนาดพิกัดหม้อแปลง มั่นใจจะช่วยให้เกิดการติดตั้งในครัวเรือนเติบโตแน่ โชว์ความพร้อมเสนาฯ ลุยพัฒนาโซลูชั่นบ้าน “ZEH หรือ บ้านพลังงานเป็น 0” เต็มพิกัด ช่วยลดใช้ไฟได้สูงสุดตั้งแต่ระดับ 18-50% เดินหน้าสู่องค์กรเพื่อความยั่งยืน
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการส่งเสริมการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) โดยใช้มาตรการหักลดหย่อนภาษีประจำปีไม่เกิน 2 แสนบาท 10 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนคนใช้โซลาร์ 9 หมื่นครัวเรือนต่อปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า สำหรับประชาชนผู้ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า นับเป็นมาตรการที่ดีในการส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะสั้น ซึ่งเห็นว่าภาครัฐควรมีมาตรการหรือกลไกที่จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ควรรับซื้อไฟคืนในอัตราที่เหมาะสม และขยายสัดส่วนปริมาณรับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับไฟฟ้าส่วนเกินของครัวเรือน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเกิดแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งมากขึ้น เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในภาคครัวเรือน
“นอกจากในเรื่องของมาตรการระยะสั้นและยาวดังกล่าว รัฐควรจะต้องมองในเรื่องการปลดล็อกกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มข้อจำกัดขนาดหม้อแปลงของผู้ขายไฟฟ้ารวมกัน จากเดิมไม่เกิน 15% ให้ได้มากกว่า 15% ของขนาดพิกัดหม้อแปลง เพราะมองว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากปลดล็อกส่วนนี้ได้ก็จะเป็นผลดีต่อทิศทางของการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ปัจจุบันกระแสการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1.กระแสรักษ์โลก เพราะทุกคนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
2.ราคาโซลาร์รูฟท็อปเริ่มมีราคาที่ถูกลงซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด
3.เทคโนโลยีของโซลาร์รูฟท็อปยังมีการพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้า รวมถึงการปลดล็อคข้อกำหนดและกฎเกณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น หากรัฐสามารถแก้ไขระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายไฟฟ้าจากภาคประชาชน จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ เข้ามาติดตั้งโซลาร์ในหมู่บ้านจัดสรรมากขึ้น
“หากแก้ระเบียบต่างๆ จะทำให้กลไกตลาดของราคาแผงโซลาร์มีความคุ้มค่าในการติดตั้ง แม้ว่าราคาปัจจุบันราคาจะลดลงกว่าอดีตก็ตาม แต่ก็ยังไม่เกิดการตื่นตัวติดโซลาร์เท่าที่ควร เนื่องจากไฟที่ผลิตได้ในช่วงกลางวันไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้บริโภคได้ เพราะด้วยปัจจัยการดำรงชีวิตที่ส่วนใหญ่ ออกไปประกอบอาชีพในช่วงกลางวัน ดังนั้น รัฐควรมีโครงสร้างการรับซื้อไฟที่เหมาะสมและจูงใจมากกว่าเดิมที่ปัจจุบันรับซื้อไฟส่วนเกินที่ 2.20 บาท/หน่วยเท่านั้น” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ปัจจุบันโครงการต่างๆ ของเสนาฯ ได้ติดตั้งโซลาร์ให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม รวมกว่า 5,000 ยูนิต และยังมีการพัฒนานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการออกแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงมีระบบประมวลผลของการลดการใช้พลังงาน โดยร่วมกับ Zeroboard (Thailand) พันธมิตรจากญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญในการให้บริการคลาวด์เทคโนโลยีสำหรับคำนวณและแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตแบบ Low-Carbon ให้กับที่อยู่อาศัย โดยเสนาฯ ได้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด “ZEH หรือบ้านพลังงานเป็น 0” โดยนำการออกแบบ Passive และ Active design ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน เลือกใช้วัสดุประหยัดพลังงาน ช่วยกันความร้อน รวมถึงใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ ช่วยให้เจ้าของบ้านซื้อไฟฟ้ามาใช้น้อยที่สุด ดังนั้น ขณะนี้ที่อยู่อาศัยที่เสนาฯ พัฒนาขึ้น สามารถประหยัดได้สูงสุดตั้งแต่ระดับ18-50% รวมถึงการติดตั้ง EV Ready เครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า (EV Charger) เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เสนาฯ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัย เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน Sustainability โดยมุ่งสู่การลดคาร์บอน หรือ Net Zero เพื่อสร้างความสมดุล 3 ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสินค้ารักษ์โลก เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง และสามารถใช้ชีวิตในแบบ Sustainability เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคน
“สิ่งที่เสนาฯ ทำไม่ใช่แค่การติดตั้งโซลาร์ แต่ต้องการทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตแบบ Sustainability ยกตัวอย่างเราขายบ้านได้ 5 หลัง แสดงว่าเรากำลังชักชวน 5 ครอบครัวมาสู่การใช้ชีวิต Sustainability และถ้าปีนี้ขายได้ 2,000 หลัง ก็มีเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ครอบครัว เพื่อให้พวกเขามาเป็นส่วนหนึ่งของ เสนา แอนด์ เดอะ แก็งค์ ในการช่วยกันรักษ์โลกใบนี้” ผศ.ดร.เกษรา กล่าวในที่สุด