2566 ถือเป็นปีที่ไม่ค่อยจะสดใสสำหรับผลประกอบการหุ้นกลุ่มเจ้าสัวซีพี "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หลังประกาศงบปี 2566 ออกมา ปรากฏว่ากำไรรวมกันหดเหลือแค่ 7,333.90 ล้านบาท เท่านั้น ลดลงถึง 74% จากปีก่อนที่มีกำไรรวมกันเฉียด 3 หมื่นล้านบาท
อาการหนักสุด เห็นจะเป็น "ทรู คอร์ปอเรชั่น" หรือ TRUE หลังควบรวมกับ DTAC แทนที่สถานะจะดีขึ้นแต่กลับแย่ลง งบปี 66 ที่รายงานตลาดหลักทรัพย์ ขาดทุนมากถึง 14,580.96 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนแค่ 5,913.54 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากขาดทุนการด้อยค่าสินทรัพย์ที่ความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) จำนวน 7.1 พันล้านบาท ขาดทุนจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย 1.9 พันล้านบาท และขาดทุนจากการบริษัทร่วมและการตัดจำหน่ายอื่นๆ 1.8 พันล้านบาท
และที่หนัก ไม่แพ้กัน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF แต่งบปี 2566 ติดลบถึง 5,207.34 ล้านบาท จากที่เคยกำไร 1.39 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 หรือลดลงมากถึง 137% เหตุผลหลักมาราคาสุกรอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้รายได้จากการขายเหลือ 585,844 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 28,353 ล้านบาท หรือลดลง 4.6% ในขณะที่กำไรขั้นต้นลดลงมากถึง 25%จากปีก่อน ทำให้ปีนี้ผู้ถือหุ้นกินแห้ว เพราะงดจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2566
ส่วนที่ยังเติบโตได้ดี คือ ซีพี ออลล์ หรือ CPALL มีกำไร 18,482.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.26% จากปีก่อน ที่มีกำไร 13,271.70 ล้านบาท โดยที่รายได้รวมในรอบปี 2566 อยู่ที่ 921,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งรายได้จากร้านสะดวกซื้อ 7-11 รายได้จากธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ในขณะที่กำไรขั้นต้นก็เพิ่มขึ้นถึง 10.3%จากปีก่อน และมีการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น 1.00 บาท จะขึ้น XD (ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล 7 พฤษภาคมนี้)
ขณะที่ ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CPAXT ที่เปลี่ยนชื่อจากสยามแม็คโคร ก็มีกำไร 8,640.07 บาท เพิ่มขึ้น 12.25% จากปีก่อนที่มีกำไร 7,696.90 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 466,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.3% ทำให้คณะกรรมการบริษัท ประกาศจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสดหุ้นละ 0.39 บาท ซึ่งจะขึ้น XD (ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล 5 เมษายนนี้)
ส่วนปีมังกรทอง 2567 ผลประกอบการกลุ่ม ซีพี จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป