news-details
Business

“วิริยะประกันภัย”เดินเกมยุทธ์ปี’67 ตั้งทีมงานมืออาชีพรับเทรนด์รถEV มาแรง ดันเป้าเบี้ยประกันรวมแตุะ 4.3 หมื่นล้านบาท

วิริยะประกันภัย มุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างไม่หยุดยั้ง ประกาศแผนปี 67 ตอกย้ำความเชื่อมั่นด้วยประสบการณ์ด้านประกันวินาศภัยกว่า 77 ปี “มั่นคง” ด้วยสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง 68,335 ล้านบาท “เป็นธรรม” ทุกขั้นตอนของการบริการ และมอบประสบการณ์ความ “คุ้มค่า” ให้แก่ลูกค้า ทั้งตั้งทีมงานมืออาชีพรับกระแสเทรนด์รถEV โต มั่นใจยังไม่ขาดทุน พอร์ตพอรับได้ รอประเมินผลอีกครั้งกลางปีนี้ พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนานวัตกรรมบริการใหม่ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยฐานข้อมูล Big Data ที่ลงลึกตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ส่วนผลประกอบการในรอบปี 66 มีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40,077 ล้านบาท ส่วนปี 67 ตั้งเป้าไว้ที่ 43,000 ล้านบาท

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการต่างๆ โดยยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความมั่นคงและเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” โดยตลอดระยะเวลา 77 ปี ของการดำเนินงาน บริษัทฯ ยังคงยืนหยัดเคียงข้างดูแลเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัยให้กับประชาชนในสังคม พร้อมตอกย้ำความมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 68,335 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ 180% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของเงินกองทุนฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

“ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัย อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% เช่นเดียวกันกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่วิริยะประกันภัย ยังครองส่วนแบ่งตลาด เป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 36 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22% ผลสำเร็จนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแกร่ง และความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ทั้งนี้ ผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40,077 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35,633 ล้านบาท และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4,444 ล้านบาท โดยในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ 38,000 ล้านบาท และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 5,000 ล้านบาท” นายอมรฯ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นนโยบาย “ความเป็นธรรม คือ นโยบาย” ซึ่งความเป็นธรรมนี้ยังถูกปลูกฝังและหยั่งรากลึกไปถึงบุคลากรของบริษัทฯ จากรุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง ซึ่งปัจจุบันวิริยะประกันภัยมีพนักงานกว่า 6,700 คน ทั่วประเทศ ทั้งบุคลากรงานส่วนหลังและบุคลากรส่วนหน้าที่คอยให้บริการลูกค้า โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการประกันภัย เพื่อผู้เอาประกันภัยได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม และเกิดความพึงพอใจอย่างสูงสุดทั้งในเรื่องของคุณภาพบริการ และการดำเนินการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน

“ในช่วงที่เราประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้น บริษัทฯ ยังคงยืนหยัดดูแลผู้เอาประกันภัยโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ประกอบกับวิริยะประกันภัย มีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินกองทุนเพียงพอ จึงสามารถดูแลเคียงข้างผู้เอาประกันภัย และจ่ายสินไหมทดแทนจนถึงกรมธรรม์ฉบับสุดท้ายในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการจ่ายสินไหมทดแทนไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท” นายอมรฯ กล่าว

นายอมรฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะตอบสนองต่อความพึงพอใจของลูกค้าที่ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจในวิริยะประกันภัย ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ที่ “คุ้มค่า” ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมบริการประกันภัย ซึ่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัทฯ ได้มีการนำบริการ “VClaim on VCall” หรือ การเคลมนัดหมายออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลมาให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันบริการนี้ได้ขยายออกไปครอบคลุมทุกทิศทั่วไทยแล้ว เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าทำให้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทฯ ยังได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการใหม่ “V-Inspection” เป็นบริการที่นำ AI เข้ามาช่วยในการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนการรับประกันภัย ให้ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสภาพรถยนต์ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลาผ่านมือถือ

ส่วนในด้านของผลิตภัณฑ์ประกันภัย บริษัทฯ ได้ใช้ Big Data พัฒนาผลิตภัณฑ์ตาม Personalization and Customer Insights หรือการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคน พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด อาทิ V-Motor ขับเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น, Type 1 Good Drive ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก 2+Good Drive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิด Carrier, ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities โดยการนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่, Viriyah Privileges เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิก

“เรามุ่งหวังที่จะมอบประสบการณ์ที่คุ้มค่าให้แก่ลูกค้า จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์ประกันภัยออกสู่ตลาดมากกว่า 60 ผลิตภัณฑ์ โดยมีการนำข้อมูล Big Data อันมาจากการได้ดูแลบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับลูกค้ากว่า 8 ล้านกรมธรรม์ จึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลที่ลงลึกถึงความต้องการและความเสี่ยง ทำให้สามารถนำมาประเมินผลเพื่อกำหนดความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า รวมถึงกำหนดเบี้ยประกันภัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าและพึงพอใจอย่างสูงสุด อีกทั้งบริษัทฯ ยังมุ่งสร้างประสบการณ์อันคุ้มค่าผ่านตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยที่มีอยู่เกือบ 6,000 คนทั่วประเทศ ที่พร้อมเข้าไปดูแลลูกค้าในพื้นที่ละแวกใกล้กับสำนักงานตัวแทน และที่สำคัญสำนักงานมาตรฐานตัวแทนของวิริยะประกันภัย ยังถูกยกระดับการบริการให้สามารถดำเนินการออกกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าได้โดยตรงเทียบเท่ากับสาขาของวิริยะประกันภัย” นายอมรฯ กล่าว

ประสบการณ์ความคุ้มค่าเหล่านี้ คือสิ่งที่วิริยะประกันภัยตั้งใจมอบให้แก่ลูกค้าที่มอบความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในบริษัทฯ ทั้งลูกค้าใหม่ รวมถึงลูกค้าเก่าที่ยังคงมีการต่ออายุกรมธรรม์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วิริยะประกันภัยยังได้เตรียมเปิดตัวแคมเปญบริษัทฯ ภายใต้แนวคิด “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” พร้อมสื่อสารไปยังสาธารณชนผ่านหนังโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าของวิริยะประกันภัยอีกด้วย  

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง งานด้านประกันภัยรถยนต์ (Motor) ว่า งานบริการสินไหมที่ดี มีคุณภาพ เป็นธรรม” คือ เป้าหมายร่วมกันของวิริยะประกันภัย ที่ยึดถือและปฏิบัติร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 77 ปี นำมาซึ่งชื่อเสียง ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากลูกค้า จนทำให้วิริยะประกันภัยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดประกันภัยรถยนต์และประกันวินาศภัยโดยรวมเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง

“ทุก ๆ วันโจทย์ในการทำงานของพวกเรา คือ ลูกค้าต้องได้รับบริการประกันภัยที่ดีที่สุด สินค้าของวิริยะประกันภัย คือ “บริการ” เราต้องทำให้ลูกค้าที่เลือกมอบความไว้วางใจกับวิริยะประกันภัยมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งทุกกระบวนงานของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอด ในทุก ๆ ส่วนงาน ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”นายสยม กล่าว

นายสยม กล่าวต่อไปว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการพัฒนางานบริการด้านสินไหมทดแทนและงานรับประกันภัยที่สำคัญในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านระบบงาน ที่มีการพัฒนา ทบทวน ปรับปรุง Redesign ระบบงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสินไหมทดแทนและรับประกันภัย ให้กระชับ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดทอนงานเอกสาร ระยะเวลา และความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น  ด้านบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด บริษัทฯ จึงมีนโยบายมุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพในระดับที่เข้มข้น ทั้งการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะ เติมเต็มองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการให้บริการลูกค้า เพื่อให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นมืออาชีพอย่างที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้าที่ต้องให้บริการลูกค้าโดยตรง และส่วนหลังที่สนับสนุนการปฏิบัติการหรือดำเนินงานต่าง ๆ  

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงได้มีการตั้งทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ดูแลเรื่องรถ EV ขึ้นมาโดยเฉพาะ และจัดอบรมความรู้หลักสูตรเกี่ยวกับรถ EV ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหาย รวมไปถึงบริษัทคู่ค้า ตัวแทนประกันวินาศภัย และศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างมืออาชีพอีกด้วย

นายสยม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมายอดขายรถ EV มีอัตราการเติบโตขึ้นที่ 18,000 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% จากปี 2565 ที่มีเพียง 5,000 กว่าคัน บริษัทยังพร้อมเดินหน้าการรับประกันภัยรถ EV โดยมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลขาดทุนเหมือนในปี 2566 ที่เป็นปีแรกที่เปิดรับประกัน และมีเบี้ยประกันภัยเข้ามาประมาณ 400 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของพอร์ตเบี้ยประกันภัยรถยนต์ของบริษัท ดังนั้นในปีนี้จึงยังไม่ได้ตั้งเป้าเบี้ยรับ เพราะพอร์ตโดยรวมยังไม่ได้รับเต็มที่ เบื้องต้นเชื่อว่าบริษัทจะเติบโตไปตามอุตสาหกรรม ซึ่งการประกันภัยรถ EV ของบริษัทเริ่มจะครบ 1 ปีในช่วงกลางปี 2567 นี้ หลังจากนั้นจึงน่าจะนำมาประเมินตลาดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำประกันภัยรถ EV จะมีเบี้ยที่สูงกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปประมาณ 10-15% 

“ปัญหาเรื่องรถ EV เป็นเรื่องที่ใหม่มากในประเทศไทย ซึ่งมีชิ้นงานที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องมีทีมงานใหม่ ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด สำหรับการซ่อมรถ EV ในปีนี้ยัง Cover อยู่ ซึ่งพอร์ตโดยรวมยังพอรับได้ เพราะพอร์ตยังไม่ได้รับเต็มที่ ดังนั้นในปีนี้จึงยังไม่ได้ตั้งเป้า แต่คาดว่าจะเติบโตตามตลาด”นายสยม กล่าว

ส่วนงานซ่อมรถ EV เป็นเรื่องใหม่ของวงการประกัน บริษัทจึงได้มีการเจรจากับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถ EV กรณีเกิดอุบัติเหตุ  และต้องการให้ส่งเข้าศูนย์ซ่อมรถ EV โดยตรง เพราะมีจุดเปราะบางทางเทคนิค ช่างซ่อมทั่วไปยังไม่มีความชำนาญในการซ่อมบำรุง จึงต้องการให้ตัวแทนจำหน่าย ผู้ผลิต มีส่วนเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ เพราะแบตเตอรี่เป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล

 

ในด้านการบริหารจัดการข้อมูล ด้วยบริษัทฯ มีข้อมูลในการรับประกันภัยและข้อมูลด้านสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า เราจึงได้ทบทวน ออกแบบ ปรับปรุงโครงสร้างและพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านกระบวนการ Data Analytics อันนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และการบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าโดยตรง ทั้งงานรับประกันภัย งานต่ออายุกรมธรรม์  และงานสินไหมทดแทน พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในส่วนของระบบงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ  ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังเชื่อมโยงงานรับประกันภัยและงานบริการด้านสินไหมทดแทนเข้าด้วยกัน เพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแบบไร้รอยต่ออีกด้วย

“นับเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจประกันภัย และวิริยะประกันภัย ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการลูกค้า ซึ่งต้องผสมผสานการทำงานร่วมกันกับคน เนื่องจาก Human Touch เป็นเรื่องสำคัญและเปราะบางมากสำหรับธุรกิจประกันภัย ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใดการนำมาใช้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและความพอดี  สำหรับงานบริการประกันภัยส่วนหน้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์คับขัน เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง คือ ได้รับการดูแลที่ดีจากพนักงานวิริยะประกันภัย  ในเรื่องนี้บริษัทฯ ก็ต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง  นับตั้งแต่ขั้นตอนการรับแจ้งเคลมจากลูกค้าผ่าน Contact Center หรือ Application การให้บริการลูกค้า ณ จุดเกิดเหตุ และการดูแลลูกค้า ณ จุดบริการต่างๆ (Touch Point) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างชื่อเสียงและการยอมรับด้านการบริการให้วิริยะประกันภัยมาโดยตลอด”นายสยม กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของงานบริการสินไหมทดแทน ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ขยายการบริการแจ้งเคลมผ่านวิดีโอคอล  “VClaim on VCall” ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ซึ่งบริการนี้ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งบริษัทฯ ยังนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมิน วิเคราะห์ และสรุปความเสียหายด้านสินไหมทดแทน ทำให้คู่ค้าบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติงานซ่อมและค่าซ่อมที่รวดเร็ว และลูกค้าได้รับรถยนต์กลับไปใช้งานตามปกติได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการทำประกันภัยกับบริษัทฯ โดยมีการพัฒนานวัตกรรมบริการ “V-Inspection” ซึ่งเป็นบริการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนทำประกันภัยผ่านมือถือ ซึ่งช่วยลดระยะเวลา และการเดินทางเพื่อตรวจสภาพรถยนต์ ทำให้ลูกค้าได้รับการอนุมัติทำประกันภัยที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมระบบข้อมูลการรับประกันภัยด้วย API  (Application Programing Interface) ทำให้บริษัทฯ สามารถเชื่อมต่อข้อมูลการประกันภัยกับระบบการขายของคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วเป็นปัจจุบัน ลูกค้าจะได้รับทราบเบี้ยประกันภัย ทุนประกัน และความคุ้มครองอย่างทันท่วงที เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำประกันภัย และชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการใช้ RPA (Robotic Process Automation) เพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการนำเข้าข้อมูลเพื่อพิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์

“บริษัทฯ ยังมองถึงโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และในอนาคต ทั้งในเรื่องของเทรนด์การดูแลสุขภาพและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับบริษัทฯ ในการขยายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบทุกโจทย์ของการใช้ชีวิตสมัยใหม่  เช่น ประกันคุ้มครองเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า ประกันรถยนต์ตามระยะทางที่ขับจริง ประกันไซเบอร์ ฯลฯ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้า และลูกค้าได้มากขึ้น ความท้าทายในเรื่องของ Claim Inflation การบริหารจัดการต้นทุนสินไหมที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเรื่องของ Cost Technology ในการดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการความคาดหวังของลูกค้า ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายสำคัญที่บริษัทฯ ต้องบริหารจัดการอย่างพิถีพิถันด้วยเช่นกัน” นายสยมฯ กล่าว

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)กล่าวถึงงานด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) ว่า เป้าหมายปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นดูแลและพัฒนาการให้บริการลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีเหนือความคาดหวังของลูกค้าทุกท่าน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงที่เป็นธรรม ทั้งยังสอดรับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มั่นคง โปร่งใส จริงใจ และเป็นธรรม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการวางแผนขยายประกันภัย Non-Motor ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 11% โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรับประกันความเสี่ยงภัยรายย่อยด้านส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยบ้าน และประกันภัยความรับผิด

“สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของประกันสุขภาพส่วนบุคคล เป็นไปในทิศทางเชิงบวก 11.48% สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดที่คนไทยตระหนักถึงประโยชน์ของประกันสุขภาพมากขึ้น และในส่วนของการเติบโตภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแผนประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในขณะเดินทาง และในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ยังคงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและแนวโน้มที่สดใส ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ มี Network ที่ครอบคลุม และความพร้อมด้านบริการ”นางฐวิกาญจน์ฯ กล่าว

นางฐวิกาญจน์ฯ กล่าวต่อไปถึงแนวทางการดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพเฉพาะโรค และประกันภัยโรคร้ายแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคุ้มครอง และบริการที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกค้า (Good Health and Wellbeing) นอกจากนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประกันภัย Carrier Liability Insurance, Cyber Security Insurance และ Professional Liability Insurance ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละประเภทธุรกิจ

“บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities ออกมาในรูปแบบ Green Insurance ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ จึงนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่ อาทิ ให้ความคุ้มครองการทดแทนสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยวัสดุในการปลูกสร้างที่เป็น Eco-Friendly ในการประกันอัคคีภัย นอกจากนี้จะสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ส่วนลดเบี้ยประกันพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ใช้วัสดุในการปลูกสร้างที่เป็น Eco-Friendly มากขึ้น ถึงแม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่เชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยลดปัญหาของสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้” นางฐวิกาญจน์ฯ กล่าว

ในส่วนของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบงาน Non-Motor บริษัทฯ มี Roadmap ในการพัฒนาระบบ New Core System โดยมีการเริ่มใช้งานระบบ New Core Phase 1 ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทาง เมื่อช่วงธันวาคม 2566 และ Phase ต่อไปในปี 2567 จะเป็นในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการประกันภัยและสินไหมรองรับการเติบโตของบริษัทฯ

“นอกเหนือจากความคุ้มครองที่วิริยะประกันภัยดูแลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง วิริยะประกันภัยได้ยกระดับการดูแลลูกค้าดั่งแคมเปญบริษัทฯ ในปี 2567 ที่ว่า “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” ผ่านโครงการ Viriyah Privileges ด้วยการมอบหลากหลายสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีตลอดระยะเวลาที่เป็นสมาชิกของวิริยะประกันภัยตามเงื่อนไขของโครงการ โดยร่วมกับพันธมิตรแบรนด์ดังมากมาย และโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัย ในการส่งมอบบริการและประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ” นางฐวิกาญจน์ฯ กล่าวในที่สุด

 

You can share this post!