news-details
Business

“ชายสี่”รุกทรานส์ฟอร์มธุรกิจขยายฐานตลาดตปท.นำร่องฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น ผนึกพันธมิตรสร้างการเติบโต คาดโกยรายได้หลังเข้าตลาดฯกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวถือเป็นแบรนด์ ร้านรถเข็นขายบะหมี่เกี๊ยวริมถนน เจ้าของตำนาน “เจ้าแห่งเส้นบะหมี่ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารชื่อดังของคนไทย ที่รู้จักกันอย่างชินสายตา ชินหูมาช้านาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นตามหน้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเฉพาะ 7-11 อีกต่อไปแล้ว ซึ่งก่อตั้งโดย “พันธ์รบ กำลา” ผู้ที่เรียนจบแค่เพียง ป.4 และเคยมีอาชีพรับจ้างทำไร่ทำนา ไปจนถึงคนขายไอศกรีม และบะหมี่เกี๊ยว ก่อนฝันใหญ่ อยากติด “นามสกุลมหาชน” ในเร็วๆนี้

โดยชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ก่อตั้งเมื่อปี 2537 หลังจากมองเห็นโอกาสทางการตลาดในรูปแบบระบบแฟรนไชส์ จึงพัฒนาสูตรเส้นบะหมี่ น้ำซุป ของตนเอง ภายใต้สโลแกนว่า “ชายสี่ ดีที่เส้น เด่นที่ซุป” และสร้างระบบการกระจายสินค้าให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าแฟรนไชส์ทั่วประเทศ จนปัจจุบันเป็นแฟรนไชส์บะหมี่เกี๊ยว ที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทยโดยรูปแบบธุรกิจของชายสี่บะหมี่เกี๊ยว เป็นธุรกิจแฟรนไชส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต รถเข็น เส้นบะหมี่ โดยสร้างสรรค์สูตรในการทำบะหมี่เกี๊ยวให้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

แต่จุดพลิกผัน ที่ทำให้ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว กลายมาอยู่แถวหน้าของวงการบะหมี่ ในประเทศไทย คือ การมีโอกาสไปออกรายการ “เกมแก้จน” ส่งผลให้มีคนสนใจแฟรนไชส์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และจากจุดนั้นเองทำให้ในปัจจุบัน ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว มีจำนวนแฟรนไชส์มากกว่า 4,000 สาขา และด้วยจำนวนสาขาที่มีทั่วประเทศ จึงสามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจอื่นๆได้อีกมากมาย 

นายพันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า กว่า 30 ปี แห่งการเติบโตของ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวจากร้านรถเข็นริมทางเพียงร้านเดียว กลายมาเป็นแบรนด์ร้านบะหมี่ริมทางที่มีสาขาทั่วประเทศและเป็นที่หนึ่งในใจของคนไทย ความสำเร็จนี้เกิดจากหัวใจของเราที่รักในการบริการ มุ่งมั่นในการส่งมอบอาหารอร่อย คุณภาพสูงให้กับลูกค้า วันนี้เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาที่เราจะต้องยกระดับธุรกิจและองค์กรให้สอดรับและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ เข้ามาเติมไฟให้กับธุรกิจ เดินหน้าสู่การทรานส์ฟอร์มภายใต้ชื่อ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” ส่งมอบอาหารและบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตต่ออย่างมั่นคงและยั่งยืน 

ปัจจุบัน ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มีแบรนด์สตรีทฟู้ดในเครือ รวม 7 แบรนด์ ได้แก่

1.ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

2.ชายสี่พลัส

3.ชายใหญ่ข้าวมันไก่

4.พันปีบะหมี่เป็ดย่าง

5.อาลีหมี่ฮาลาล

6.ไก่หมุนคุณพัน

7.ลูกชิ้นทอดโอ้มายก๊อด

โดยปัจจุบันแบรนด์ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว มีจำนวนกว่า 4,500 สาขา และในปี 2567 นี้มีแผนจะเพิ่มเป็น 6,000 สาขา อีกทั้งยังมีอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานภายใต้แบรนด์ชายสี่โกลด์ พร้อมด้วยเครื่องปรุงเพื่อจำหน่ายอีกกว่า 200 รายการ ทุกแบรนด์สินค้าในเครือต่างได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพที่สดใหม่ วัตถุดิบส่งตรงจากศูนย์การผลิตและกระจายสินค้าทั้งหมด 7 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และราคาที่เข้าถึงได้จากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค ทำให้ชายสี่เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักของคนไทย โดยศูนย์ผลิตและกระจายสินค้า ทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย

-ศูนย์คลองหก (สำนักงานใหญ่) เปิดเมื่อปี 2542

-ศูนย์มหาสารคาม เปิดเมื่อปี 2545

-ศูนย์พุนพิน (จ.สุราษฎร์ธานี) เปิดเมื่อปี 2546

-ศูนย์ลำปาง เปิดเมื่อปี 2547

-ศูนย์พิษณุโลก เปิดเมื่อปี 2556

-ศูนย์อุดรธานี เปิดเมื่อปี 2560

-ศูนย์พนัสนิคม (จ.ชลบุรี ภาคตะวันออก) เปิดเมื่อปี 2548

และในปี 2567 นี้ มีแผนที่จะเปิดศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มอีก 3 แห่ง คือที่ หาดใหญ่ จ.สงขลา ,นครราชสีมา และยโสธร เพื่อส่งสินค้าได้รวดเร็วและสะดวกต่อผู้บริโภค ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้งบในการลงทุนประมาณไม่ถึงสิบล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าในการนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)นั้น ปัจจุบันมีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว โดยสาเหตุหลักที่ต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนฯนั้น ประเด็นแรกเลยคือ “ไม่ต้องการให้ลูกๆทะเลาะกัน” และ “ต้องการความก้าวหน้าในธุรกิจ” คาดว่าจะจะสามารถนำเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO) ภายในระยะเวลาไม่เกินนับจากนี้ ซึ่งภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯคาดว่าจะสามารถทำยอดขายแตะ 3,000 ล้านบาท และหลังเข้าตลาดฯแล้วจะสามารถทำยอดขายได้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการขยายธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศ

ด้าน นายอนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า  ปัจจุบันตลาดสตรีทฟู้ด มีมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมรายเล็กๆที่ไม่มีแบรนด์ หากรวมก็มีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัวมากนัก ก็มีผลกับกำลังซื้อบ้าง ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ยังคงเป็นในเรื่องของต้นทุน เพราะคู่แข่งทางธุรกิจเริ่มมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับแบรนด์ของ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ด้วยความที่เป็นสตรีทฟู้ด จึงไม่ค่อยมีผลกระทบเท่ากับร้านอาหารแบรนด์ใหญ่มากนัก ดังนั้นจึงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวถือเป็น Soft Power ของไทย โดยในปี 2567 นี้ ตั้งเป้างบลงทุนในประเทศไว้ประมาณ 50-100 ล้านบาท

“ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพสร้างการเติบโต โดยหลังจากผ่านวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา บริษัทฯกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 เป็นปีที่สร้างยอดขายได้สูงสุดในประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวม 1,085 ล้านบาท และยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 เช่นกัน” นายอนุชิต กล่าว

ล่าสุดในปี 2565-2566 บริษัทฯ ได้เริ่มสู่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การบริหารต้นทุนอย่างชาญฉลาด รวมถึงการปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากทั้งหมดที่ได้ลงมือทำ เราสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1,100ล้านบาท และการเติบโตของกำไรได้มากกว่า 100% สะท้อนถึงศักยภาพในการปรับปรุงรากฐานขององค์กรให้แข็งแกร่งทั้งทางด้านการเงิน และการปฏิบัติการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเรากำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ผ่านการดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 กลยุทธ์ ที่มุ่งสนับสนุนให้ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เติบโตได้อย่างยั่งยืน

1.พัฒนามาตรฐานแฟรนไชส์  ผ่านการปรับปรุงระบบการบริหารแฟรนไชส์และการบริการทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์การผลิตและจัดส่งที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยในการเข้าถึงคู่ค้าและควบคุมคุณภาพแฟรนไชส์

2.พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมตามความต้องการของตลาด โดยให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย ทั้งร้านอร่อยริมทาง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากแบรนด์สตรีทฟู้ดทั้ง 7 แบรนด์แล้ว ซึ่งยังมีสินค้าพร้อมทานที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

3.พัฒนาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการการเข้าซื้อกิจการต่างๆที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้มีการเข้าซื้อกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังเมืองกรุงเก่า “เสือร้องไห้” ปัจจุบันมีเพียงสาขาเดียวคือ จ.พระนครศรีอยุธยา และแบรนด์เบเกอรี่ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว “บริกซ์” ปัจจุบันมี 3 สาขา คือ สยามพารากอน,ไอคอนสยาม และโรงแรมเดอะ สลิล ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยในการเข้าซื้อกิจการได้ใช้รูปแบบที่จะยังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม คือบริษัทฯจะถือหุ้นมากกว่า 51%  เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตนในการบริหารและพัฒนาแบรนด์ต่อได้

อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Cabalen Group กลุ่มธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์ โดยบริษัทฯถือหุ้นสัดส่วน 30% และกลุ่ม Cabalen Group ถือหุ้น 70 % ซึ่งปัจจุบันในเฟสแรกบริษัทฯได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อผลิตเส้นบะหมี่ และขายแฟรนไชส์ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับพันธมิตรชาวญี่ปุ่น เพื่อร่วมทุนผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย  จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ส่วนการขยายแฟรนไชส์ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว”ในประเทศเพื่อนบ้านปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว ,กัมพูชา และ เวียดนาม ซึ่งที่ผ่านยอดขายยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควรแค่ประมาณหลักสิบล้านเท่านั้น แต่หลังจากปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งในปีนี้มีแผนที่จะจัดเข้าระบบมากขึ้น คาดว่ารายได้จากต่างประเทศจะโตไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งจะรวมไปถึงการนำสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ขึ้นเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโปรแกรมพัฒนาบุคคลสู่ความสำเร็จ พร้อมจัดสวัสดิการพนักงานให้ทัดเทียมองค์กรชั้นนำ ชายสี่ฯ เชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ผ่านกลยุทธ์หลักนี้ จะส่งเสริมและยกระดับให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์แถวหน้าในธุรกิจอาหารของไทยและเติบโตได้ไร้ขีดจำกัด ปัจจุบันผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ ‘ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว สามารถเป็นเจ้าของได้ในราคาเริ่มต้นที่ 100,000 บาท และสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 1 ปี” นายอนุชิต กล่าว

นายอนุชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดบริษัทได้พิ่ม SET ชุดทำบุญ ชุดถวายเพล สำหรับบริการรับจัดเลี้ยงของ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว”ด้วย ในราคาเริ่มต้นที่ 200-300 บาท/SET และขึ้นอยู่กับเมนูที่ลูกค้าเลือก และมีค่าบริการขนส่งตามระยะทาง โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลของบริษัทฯแล้ว แต่ยังไม่ได้นำลงแพลตฟอร์ม ล่าสุดได้รับการตอบรับจากลูกค้าพอสมควร

สำหรับแผนการนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น คาดว่าหลังจากเข้าตลาดฯแล้วบริษัทฯจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แม้ว่าในปีนี้รายได้รวมยังเป็นเพียงหลักพันล้านเท่านั้น โดยตั้งเป้ายรายได้ไว้ที่ 1,500 ล้านบาท โตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 25% และกำไรโตกว่า 20% โดยรายได้หลักยังคงเป็นแบรนด์ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” สัดส่วน 90% แต่หลังจากนี้บริษัทฯจะรุกการขยายแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น จึงเชื่อว่าจะสามารถทำเป้ารายได้ที่วางแผนไว้ได้อย่างแน่นอน

นับว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” ที่แบรนด์ไม่ใช่รับรู้เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่เริ่มเป็นที่รับรู้ในต่างประเทศมากขึ้น และแนวโน้มอาจจะมีการขยายฐานไปจีนด้วยหรือไม่ เพราะจากการประกาศขยายฐานธุรกิจในต้นเดือนเมษายนนี้ ได้มีนักท่องเที่ยวจีน เรียกเพื่อนที่มาพักในโรงแรมที่จัดงานเพื่อดูชื่อแบรนด์และสะกดได้อย่างชัดเจนด้วย ซึ่งก็ต้องจับตาว่าอนาคตจะได้ไปไกลถึงพี่ใหญ่อย่างจีนด้วยหรือไม่

 

 

You can share this post!