news-details
Business

“ซีคอน”รุกรับสร้างบ้านโครงการหรู แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน นำร่อง “สิงห์ เอสเตท-เนอวานา” ล่าสุดดึงศิลปินดัง ร้องเพลง “LIVE and LEARN”เวอร์ชั่นพิเศษ ถ่ายทอดเรื่องราว 63 ปีในธุรกิจ ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกยุคสมัย

ซีคอนฯเผยมาตรการรัฐเคาะช่วยธุรกิจรับสร้างบ้านเพียง 1 ข้อ ดีกว่าไม่ช่วยเลย ระบุไม่มีผลกับลูกค้าบริษัทฯ เหตุส่วนใหญ่บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท จะซื้อด้วยเงินสด เชื่อภาพรวมช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อผู้บริโภคได้เร็วขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาขาดแรงงานก่อสร้างต่อเนื่อง ส่งผลดึงเครือซีคอนเข้ารับสร้างบ้านหรู ล่าสุดเข้าก่อสร้างให้ สิงห์ เอสเตทฯและเนอวานาฯแล้ว รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท พร้อมอยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มอีก 2 ราย ล่าสุดนำ “Music marketing” เป็นกลยุทธ์การตลาดนำ “เสียงเพลงและดนตรี” เป็นเครื่องมือสื่อสารตอกย้ำ brand loyalty และสร้าง brand awareness แก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ด้วยการร่วมกับ “บอย โกสิยพงษ์” นำบทเพลง “LIVE and LEARN” มา rearrange ใหม่ โดยดึง “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” และ“กลม เดอะวอยซ์-อรวี พินิจสารภิรมย์”  มาร้องส่งผ่านอารมณ์ ในแนวดนตรีดรัมแอนด์เบส เวอร์ชั่นพิเศษ เพื่อถ่ายทอดเส้นทางและเรื่องราวตลอด 63 ปีในธุรกิจ และตอกย้ำแบรนด์ ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาศักยภาพ บริการด้วยการนำทุกโจทย์ที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางธุรกิจมาค้นหา solution ใหม่ เติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในทุกยุค  ระบุไตรมาส 1/67 นั้น มีมูลค่ายอดจองสร้างบ้านประมาณ 570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 15% คาดทั้งปีตั้งเป้ายอดจองสร้างบ้านรวม 2,200 ล้านบาท

นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยว่า จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของภาครัฐ ที่ไฟเขียวลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน สูงสุด 100,000 บาท นาน 2 ปี  ซึ่งถือว่าดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลย สำหรับลูกค้าของซีคอนฯที่สร้างบ้านในระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป แล้วลดได้ 100,000 บาท ก็ไม่มีผลอะไรมากนัก เพราะลูกค้าที่สร้างบ้านระดับราคาดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างบ้านด้วยเงินสด  แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านจะยิ่งเติบโต แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่บ้านก็ยังเป็นปัจจัยสี่ ที่ทุกคนมีความต้องการ

สำหรับเรื่องสำคัญที่ยังเป็นปัญหาของภาคอสังหาฯคือ การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนอกตลาดฯต่างเกรงว่าจะไม่สามารถส่งมอบบ้านให้กับลูกค้าได้ทัน ประกอบกับเห็นผลจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูป ระบบซีคอน ซึ่งตั้งบริเวณลำลูกกา คลอง 12 บนพื้นที่ 26 ไร่ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งสามารถผลิตได้ประมาณ 120,000 ชิ้น/ปี หรือสร้างบ้านได้ 700-800 หลัง/ปี ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯเริ่มสนใจติดต่อให้บริษัท ซีคอน ไอดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซีคอนฯเข้าไปก่อสร้างบ้านในโครงการให้บ้างแล้ว โดยปัจจุบันมีเซ็นสัญญก่อสร้างให้กับโครงการ “ฌอน วงแหวน – จตุโชติ”ของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด(มหาชน)หรือ S ซึ่งเป็นการสร้างบ้านเดี่ยว ราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 50 ยูนิต มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และโครงการ “เนอวานา คอลเลคชั่น กรุงเทพกรีฑา” ของบริษัท เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NVD เป็นการสร้างบ้านหรู ระดับราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 5 ยูนิต แต่เบื้องต้นขณะนี้ก่อสร้างก่อนแล้ว 1 ยูนิต มูลค่าประมาณ 100 กว่าล้านบาท  และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรอีก 2 ราย คือ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE และ บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

อย่างไรก็ตาม บริษัท ซีคอน จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2504 โดยการรวมตัวของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งนำโดย นายวิชัย ซอโสตถิกุล ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจการก่อสร้างที่จะ มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินงานด้านธุรกิจก่อสร้างนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมโยธา มาเป็นผู้บริหารงานโดยตรง ด้วยเหตุนี้นายวิชัย จึงได้มอบหมายให้นายกอบชัย ซอโสตถิกุล บุตรชายที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่กับบริษัทออกแบบก่อสร้างของสหรัฐอเมริกาเข้ามารับผิดชอบบริหารงานในบริษัทฯ ภายใต้การบริหารงานของ นายกอบชัย ซอโสตถิกุล มีผลทำให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสเข้าไปรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญหลายๆ โครงการ ผลงานแรกก็คือ โครงการออกแบบก่อสร้างตลาดและตึกแถวประมาณ 200 คูหา บริเวณตลาดมหานาค และจากการดำเนินงานในหลายโครงการต่อมา บริษัทฯ จึงได้คิดค้นและพัฒนา “ระบบซีคอน” ที่ทำให้สามารถสร้างอาคารที่แข็งแรงทนทาน ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการก่อสร้าง ทำให้เกิดระบบการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ผลงานแรกที่ใช้การก่อสร้างระบบซีคอน ได้แก่ โครงการสร้างตึกแถวบริเวณถนนพระราม 4 และ ถนนบรรทัดทองของบริษัท วังใหม่ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากความสำเร็จในครั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์การค้าสยามสแควร์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ณ ขณะนั้น อันประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 3 โรง สถานโบว์ลิ่ง 1 แห่ง และ ตึกแถวประมาณ 550 คูหา และยังได้ร่วมมือกับบริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด สร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติแนนตัล ซึ่งนับเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของบริษัทฯ ที่นำมาซึ่งความเชื่อถือ และไว้วางใจในการก่อสร้างด้วย “ระบบซีคอน”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยให้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยการค้ำประกันเงินกู้ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อได้เกิดการพัฒนาโครงการในด้านที่อยู่อาศัยดังกล่าว โดยการนำเงินกู้มาให้ประชาชนกู้ยืมสำหรับนำไปซื้อบ้านเพื่อเป็นการตอบสนอง    ในโครงการนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัทอเมริกาแห่งหนึ่งจัดสร้าง “หมู่บ้านมิตรภาพ” ซึ่งประกอบด้วย บ้านเดี่ยว ประมาณ 800 หลัง ให้ประชาชนเช่าซื้อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระคืน 20 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และนับว่าบริษัทฯ เป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มบริการสร้างหมู่บ้านจัดสรรผ่อนส่งระยะยาวขึ้น จนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน



ในปี พ.ศ. 2567 นอกจากโรงงานผลิตโครงสร้างชิ้นส่วนเสา – คานกึ่งสำเร็จรูประบบซีคอนแห่งที่ 2 @ ลำลูกกาคลอง 12 ได้สร้างเสร็จเรียบร้อย และมีกำลังการผลิตสูงถึง 120,000 ชิ้นต่อปี หรือ 700-800 หลัง เพื่อรองรับการขยายตัว และการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว พร้อมก้าวไปอย่างต่อเนื่องแบบ “Fast Forward” แล้ว นายกอบชัย ซอโสตถิกุล ยังได้ถ่ายทอดเจตนารมย์และวิสัยทัศน์แห่งผู้นำธุรกิจรับสร้างบ้านสู่ 2 ผู้บริหารรุ่นที่ 3 คือ นายไปรเทพ ซอโสตถิกุล ประธานกรรมการบริหาร และนายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เพื่อสานต่อการพัฒนานวัตกรรม และบริการรับสร้างบ้านในไทยให้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเริ่มจากการสร้างสรรค์แคมเปญพิเศษ “ซีคอน...ส่งต่อด้วยใจ” โดยได้พัฒนาภาพยนตร์โฆษณา และมิวสิค วิดีโอ เพื่อคงความเชื่อมั่น และยอมรับต่อแบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน



ล่าสุด ซีคอน ได้นำกลยุทธ์ Music marketing กลยุทธ์ทางการตลาดที่นำ “เสียงเพลงและดนตรี” มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อตอกย้ำ brand loyalty และสร้าง brand awareness แก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ด้วยการร่วมกับ “บอย โกสิยพงษ์” นักแต่งเพลง นักร้อง และโปรดิวเซอร์ชื่อดังของไทย นำบทเพลง LIVE and LEARN” มา rearrange ใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” นักร้องมากความสามารถที่มีผลงานเพลงมากกว่าร้อยบทเพลง มาส่งผ่านอารมณ์เพลง LIVE and LEARN ในแนวดนตรีดรัมแอนด์เบส (Drum and Bass) เวอร์ชั่นพิเศษของซีคอน ร่วมกับ “กลม เดอะวอยซ์-อรวี พินิจสารภิรมย์” เพื่อถ่ายทอดเส้นทางและเรื่องราวตลอด 63 ปีในธุรกิจของซีคอน ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาศักยภาพ และบริการด้วยการนำทุกโจทย์ที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางธุรกิจมาค้นหา solution ใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในทุกยุคด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง จนได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพ และบริการต่อเนื่องตลอดมา “เหตุผลที่ ซีคอน เลือกบทเพลง “LIVE and LEARN” มาใช้ในแคมเปญนี้ เพราะเนื้อหาของบทเพลงนี้มีความหมายที่ดี สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปได้ชัดเจน  สามารถสื่อสารให้เห็นในเชิงของปรัชญาการดำรงชีวิต ที่คนๆ หนึ่งได้เดินทางหรือบริหารธุรกิจมานานถึง 63 ปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องสะสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมามาก และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมสิ่งที่สั่งสมมานั้นก็ต้องสืบทอดไปสู่คนรุ่นถัดไป แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือ ปณิธานและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในแบบ customer centric ที่เรายึดถือมาโดยตลอด และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนจากปัจจุบันสู่อนาคต

ทั้งนี้ บทเพลง LIVE and LEARN ในแนวดนตรีดรัมแอนด์เบส (Drum and Bass) เวอร์ชั่นพิเศษของ  ซีคอน จะถูกนำมาพัฒนาเป็นภาพยนตร์โฆษณาและ มิวสิค วิดีโอ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 เมษายน 2567 นี้
(สามารถชมภาพยนตร์โฆษณาและมิวสิค วิดีโอ ได้ที่ link ด้านล่าง)
https://www.dropbox.com/scl/fi/axyktw9zy8aluz11rcgjy/Live-Learn-Pun-Kom-MP3-Full-MASTER-2-MB.mp3?rlkey=nz3rywrp442urjlhubqrxtdfz&st=j6ycy3x3&dl=0


ด้านการดำเนินธุรกิจของ ซีคอนฯ ในไตรมาสแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่ายอดจองสร้างบ้านประมาณ 570 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นกว่าปี 2566 ประมาณ 15%  โดยเป็นบ้านขนาด 350 ตารางเมตรขึ้นไป มูลค่า 155 ล้านบาท ,บ้านขนาด 201-349 ตารางเมตร มูลค่า 164 ล้านบาท และบ้านขนาด 100-200 ตารางเมตร มูลค่า 246 ล้านบาท ซึ่งเป็นบ้านในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล 90% และต่างจังหวัด 10%  ส่วนบริษัท ซีคอน ไอดี จำกัด มียอดจองสร้างมูลค่าประมาณ 204 ล้านบาท จากเป้ารวมทั้งปี 2567 ที่ตั้งไว้ 2,200 ล้านบาท สูงกว่าปี 2566 ซึ่งทำได้ 1,800-1,900 ล้านบาท

อนึ่ง ปัจจุบันตระกูล “ซอโสตถิกุล”มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านทั้งหมด 4 บริษัท คือ บริษัท ซีคอน จำกัด,บริษัท บิวท์ ทู บิวด์ จำกัด,บริษัท ซีคอน ไอดี จำกัด และบริษัท เอส ซี แกรนด์ จำกัด โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีตัวเลขรายได้รวมประมาณ 4,000 -4,500 ล้านบาท

 

 

 

You can share this post!