news-details
Business

“เอสซีจี”ต่อยอดตลาดสินค้าและนวัตกรรมกรีนเพื่อที่อยู่อาศัย เสริมออฟชันสร้างทางเลือกวัสดุ เพื่อชีวิตปลอดภัย ไร้ฝุ่นใยหิน พร้อมดูแลโลก

เอสซีจี  ต่อยอดการพัฒนาตามแนวทาง เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภคให้ใช้ชีวิตได้สะดวก คุ้มค่า ปลอดภัยและรักษ์โลก พร้อมเร่งเดินหน้าร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น


นางอัญชลี ชวนะลิขิกร Head of Housing Product Solution Business ในธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ผู้นำด้านหลังคา ฝาฝ้า ฉนวน และวัสดุก่อสร้าง ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี, สมาร์ทบอร์ด เอสซีจี และ DECAAR by SCG  เปิดเผยว่า เอสซีจีขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการปรับกลยุทธ์และพัฒนากระบวนการผลิต รวมทั้งการจัดการเพื่อลดคาร์บอนในกลุ่มสินค้าเพื่อที่อยู่อาศัย  “เลือกให้ดีต่อโลก เลือกให้ดีต่อเรา ด้วยแนวทาง Greenomy Innovation”

โดยที่ผ่านมาเอสซีจีได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาพของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการเร่งพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้ใช้งาน ผู้อยู่อาศัย ตลอดจนผู้ติดตั้งสินค้า ก่อนที่กฎหมายกำหนดบังคับใช้ อาทิ การใช้วัสดุศาสตร์ทดแทนการใช้แร่ใยหินในสินค้าทั้งหมด ทั้งในกลุ่มสินค้าหลังคา สมาร์ทบอร์ด ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยที่ยังคงคุณภาพ และราคาที่ผู้บริโภคจับต้องได้ เป็นต้น โดยเอสซีจียกเลิกการใช้แร่ใยหินในสินค้าทุกชนิดตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ การขยายตลาดสินค้ากลุ่มเพื่ออยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้สัญลักษณ์ SCG Green Choice ที่มุ่งพัฒนาสินค้าและบริการ โดยปัจจุบันสินค้า Green Choice ของเอสซีจีมีสัดส่วนอยู่ที่ 70% ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยและผู้ติดตั้งสินค้า ไปจนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม

“ยิ่งไปกว่านั้น เอสซีจี ไม่เพียงมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนจากตัววัสดุ  แต่ยังมองไปถึงวัสดุที่ช่วยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้อีก (Carbon Negative Product) รวมไปถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมและการตลาดของหลังคา ฝาฝ้า ฉนวนและวัสดุก่อสร้าง เอสซีจี ด้วยนิยาม ‘Greenomy Innovation’ โดยเริ่มจาก Green ผนวกเข้ากับ Economy ที่นอกจากการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังผลักดันนวัตกรรมกรีนให้สามารถใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้มากขึ้น เข้าถึงง่ายและกว้างขึ้น และยังสร้างประโยชน์โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในตลาดพรีเมียมเท่านั้น” นางอัญชลี กล่าว

นายอนุสรณ์ พจนบรรพต Chief Operation Officer ในธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง กล่าวว่า เอสซีจีได้พัฒนาและเริ่มใช้งานสีเคลือบชนิดพิเศษที่ลดส่วนประกอบของวัสดุที่มีเบสเป็นเรซิ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยลด VOCs ที่เป็นสารอันตรายแล้วยังช่วยลดวัสดุตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างไมโครพลาสติก ที่อาจส่งผลกระทบกลับมาที่ห่วงโซ่อาหาร และมีผลต่อผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีการใช้สีพิเศษเพื่อลดการปล่อยไมโครพลาสติกในกลุ่มสินค้าหลังคาลอนคู่ เอสซีจี ทุกชนิด พร้อมตั้งเป้าขยายผลในกลุ่มไม้สังเคราะห์ เอสซีจี ภายในปี 2567

สำหรับเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอน จากการดำเนินการผลิตหลังคา ฝาฝ้า ฉนวน และวัสดุก่อสร้าง เอสซีจี ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟและโซลาร์ฟาร์ม เพื่อใช้ในโรงงานที่มีกว่า 22 แห่ง อีกทั้งยังได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการใช้งบลงทุนช่วง 5 ปีนี้ กว่า 1,200 ล้านบาท รวมทั้ง การเปลี่ยนวัตถุดิบซีเมนต์ที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตสินค้าให้เป็นปูนโครงสร้างคาร์บอนต่ำ หรือปูนไฮบริด เอสซีจี ทั้งหมด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2567

          

โดยในปัจจุบันหลังคาคอนกรีต เอสซีจี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ถึง 140 Kg.CO2 หรือ 14% เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 15 ต้น ต่อการสร้างบ้านหนึ่งหลังที่ใช้หลังคาคอนกรีต เอสซีจี 120 ตารางเมตร และในอีก 5 ปี ข้างหน้า เอสซีจีเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการตลอดทั้งกระบวนการ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เพิ่มขึ้นเป็น 254 Kg.CO2 หรือ 26% เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 27 ต้น  เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตหลังคาคอนกรีตในยุคแรก

นอกจากนี้ ยังพัฒนาครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนลูกค้า โครงการ ช่าง ที่ลดคาร์บอนจากกระบวนการติดตั้งสินค้า ไปจนถึงกระบวนการหน้างานก่อสร้าง และการจัดการก่อสร้าง   อาทิ พัฒนาโครงหลังคาสำเร็จรูป เอสซีจี ที่ช่วยลดเศษวัสดุที่เกินความจำเป็น รวมถึงขยายการให้บริการมุงหลังคาครบวงจรที่มีการถอดแบบประมาณการพร้อมติดตั้งจากเอสซีจี ไม่เหลือวัสดุส่วนเกินที่หน้างาน และบริการ Top Up Roof  ที่ช่วยในการปรับปรุงหลังคาบ้านเก่าที่รั่วซึมโดยไม่ต้องรื้อเปลี่ยนทั้งหลังคาแต่สามารถติดตั้งแผ่นหลังคาซ้อนทับ ลดเวลา แรงงาน และวัสดุที่ใช้

 

 

 

You can share this post!