ธนาคารยูโอบี คาดการณ์ Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยปี 67 ออกไป เหตุเงินเฟ้อยังสูง ด้านสถานการณ์ในประเทศไทย คาดแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งๆ ละร้อยละ 0.25 ในเดือนมิ.ย.และส.ค.67 พร้อมหนุนคลัง หากนำ LTF กลับมา ช่วยดึงเม็ดเงินไหลเข้าคล้ายกองทุน “Thai ESG” แต่ยังคงต้องจับตาภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัวร่วมด้วย เหตุรายได้จากภาคท่องเที่ยวยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากเท่าที่ควร ล่าสุดจัดงานสัมมนา “Mid-Year Investment Outlook” ให้นักลงทุนทราบถึงกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนที่แข็งแกร่งท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก เพื่อรับมือในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
นายกิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)หรือ UOB เปิดเผยถึง แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ว่า คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ออกไปเนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูง ยูโอบีคาดว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 สำหรับปี 2567 (ปรับลดลง 2 ครั้งๆ ละร้อยละ 0.25 ในเดือนกันยายนและธันวาคม 2567) ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.75 นอกจากนี้ ยังคงมีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐจะชะลอการปรับลดดอกเบี้ยออกไปอีกจากความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจปรับตัวขึ้น
ส่วนความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อความผันผวนของตลาดในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯในการห้ามอิหร่านส่งออกน้ำมันอาจส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 3.2 ต่อปีรวมถึงประมาณการเงินเฟ้อจาก ร้อยละ 4.8 เป็นร้อยละ 4.9 ต่อปีในรายงานฉบับล่าสุดเดือนเมษายน
แนวโน้มในประเทศ เชื่อว่าภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรกของปี ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าถือเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลัก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยูโอบีคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งๆ ละร้อยละ 0.25 ในการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ภายในสิ้นปี 2567 จากอัตราร้อยละ 2.50 ในปัจจุบัน จากแรงกดดันเงินเฟือที่ลดลงและแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งขึ้นและยอดการส่งออกที่สามารถฟื้นตัวได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุน ค่าเงินบาท ประมาณการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐล่าสุดอยู่ที่ 36.0 บาท สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567, 35.6 บาท สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567, 35.2 บาท สำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 และ 34.8 บาท สำหรับไตรมาส 1 ปี 2568
ส่วนกรณีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมา คาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินไหลเข้าคล้ายกองทุน “Thai ESG” แต่ยังคงต้องจับตาภาพรวมเศรษฐกิจไทยร่วมด้วย เนื่องจากมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้นยังชะลอตัว แม้ช่วง Q1/67 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นแตะ 9.4 ล้านคน แต่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากเท่าที่ควร
นายกิดอน กล่าวว่า ขณะที่กำลังเข้าสู่ช่วงปลายไตรมาส 2/2567 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับนักลงทุนอย่างมาก จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ได้สร้างผลกระทบต่อการลงทุน ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยจึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาลงทุนในหุ้นปันผลเพื่อสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ธนาคารยังแนะนำให้สร้างพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่งผ่านการลงทุนกลุ่ม Core Investment ด้วยกลยุทธ์ Multi-asset ที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายตามภูมิภาค อุตสาหกรรม และสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ทางการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ การสัมมนายังเจาะลึก ไปยังกลยุทธ์การลงทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไปที่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพระดับโลก (global healthcare), เอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่น และอาเซียน เพื่อสร้างเถียรภาพให้พอร์ตในระหว่างที่ตลาดผันผวน
“เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคครัวเรือน และการใช้จ่ายภาครัฐ นายเอ็นริโก้ ทานูวิดจายา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research กลุ่มธนาคารยูโอบี ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจะชี้ให้เห็นถึงกิจกรรมในประเทศที่ชะลอตัวลง แต่การฟื้นตัวของต่างประเทศยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ด้วยการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า ค่าใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ธนาคารยูโอบีคาดการณ์การเติบโตของจีดีพี ที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และร้อยละ 3.0 ในปี 2568 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของการส่งออกภาคอุตสาหกรรม และอุปสงค์ในประเทศที่มีเสถียรภาพ ควบคู่ไปกับการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น”นายกิดอน กล่าว
ทั้งนี้ธนาคารยังมีความมุ่งมั่นในการผสานความเชี่ยวชาญของมนุษย์เข้ากับความล้ำหน้าของดิจิทัลเพื่อมอบบริการเฉพาะบุคคล โดยแนะนำเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยลูกค้าในการสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุนส่วนบุคคลที่เรียกว่า My Wealth Planner และเพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบัน เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนได้ดีขึ้น เครื่องมือ My Wealth Planner จะสร้างกรอบการลงทุนที่สามารถพาลูกค้าให้บรรลุวัตถุประสงค์การลงทุนของตนได้ ข้อมูลลูกค้าทั้งหมดจะถูกรวบรวมและประมวลผลโดย My Wealth Planner ซึ่งจะเข้าใจโปรไฟล์ความเสี่ยงในการลงทุนและจัดสรรกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนและการประกันภัย เครื่องมือนี้ยังทำให้การลงทุนเรื่องที่ปลอดภัยและง่ายขึ้น ทั้งยังคอยติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ
นายกิดอน กล่าวถึงฟีเจอร์ Wealth ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวใน UOB TMRW ว่า จะช่วยให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยนกองทุนรวมได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถจัดการความมั่งคั่งผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว นักลงทุนจะสามารถเข้าถึงกองทุนต่างประเทศได้โดยตรง ทำให้สามารถลงทุนโดยตรงในกองทุนรวมที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศจากบริษัทจัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงถึง 14 แห่ง อาทิ Blackrock, PIMCO, JPMorgan และ Fidelity และเพื่อลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด นักลงทุนควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้และกระจายพอร์ตการลงทุนให้มีความหลากหลาย ผ่านเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลายและผลิตภัณฑ์การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทีมที่ปรึกษาลูกค้าและผู้เชี่ยวชาญของยูโอบี จะให้คำแนะนำอย่างมืออาชีพโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ทางการเงินสำหรับนักลงทุนรายบุคคล ผู้ลงทุนควรตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่า เข้าใจสิ่งที่กำลังลงทุนและได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน
ด้าน นายเอเบล ลิม Head of Wealth Management Advisory and Strategy กลุ่มธนาคารยูโอบี กล่าวว่า ความสำคัญของการสร้างพอร์ตที่แข็งแกร่งเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว เนื่องจากตลาดมีความอ่อนไหวต่อดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราการเติบโตและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่แตกต่างกัน การสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอผ่านการลงทุนในหุ้นปันผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โดยแนะนำการลงทุนหลัก เช่น กลยุทธ์ Multi-asset และตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade) ที่ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงช้า การกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ ภูมิภาค และอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
ในส่วนของ Top Ideas นั้น นายเอเบล ได้แนะนำ Global Healthcare สำหรับลูกค้าที่สนใจลงทุนในหุ้น เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีลักษณะ defensive และมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากสังคมผู้สูงอายุและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแม้จะมีความท้าทายในระยะสั้นในภูมิภาคเอเชีย(ไม่รวมญี่ปุ่น) / อาเซียน / จีน แต่นายเอเบลยังคงมีมุมมองเชิงบวกในระยะกลาง เนื่องจากการบริโภคในภูมิภาคที่ฟื้นตัวและมูลค่าหุ้นในกลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ