ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เมืองท่องเที่ยวยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากผู้พัฒนาต้องพบเจอกับช่วงเวลาอันเลวร้ายในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ผ่านมา โดยพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากกว่า 12 ล้านคน สร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศสูงกว่า 583,000 ล้านบาท ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่าเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลทั้งในพื้นที่ภูเก็ต พัทยา และหัวหิน ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยพบว่าเม็ดเงินลงทุนรวมกกว่า 56,600 ล้านบาทยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ทั้งใน 3 พื้นที่ และพบว่าเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 10 ปีที่อุปทานเปิดขายใหม่ของตลาดคอนโดมิเนียมเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตและพัทยาสูงกว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งในส่วนของจำนวนยูนิตขายและมูลค่าการพัฒนารวม ผู้พัฒนารายใหญ่จากกรุงเทพมหานครและผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ต่างพากันเปิดตัวโครงการใหม่กันอย่างคึกคัก และหลายโครงการยังคงปิดการขายได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหลายโครงการ ยูนิตขายยังคงถูกดูดซับออกไปด้วยกำลังซื้อต่างชาติโดยเฉพาะกำลังซื้อรัสเซีย
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส (ประเทศไทย)จำกัด คาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เมืองท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 และในช่วงครึ่งหลังของปีจะยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง อุปทานเปิดขายใหม่จากผู้พัฒนารายใหญ่ยังคงเปิดตัวอย่างคึกคักในหลายพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการของกำลังซื้อที่ยังคงให้ความนิยมคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศสำหรับเป็นบ้านหลังที่ 2 และเพื่อการลงทุนและหลายโครงการอาจสร้างกระแสการพูดถึงส่งผลให้โครงการได้รับความสนใจจากกำลังซื้อและสามารถปิดการขายลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ผู้ประกอบการยังคงหลั่งไหลเข้าสู่เกาะภูเก็ตในช่วงไตรมาสแรกของปีแห่ผุดคอนโดฯ-บ้านพักตากอากาศมากกว่า 3,500 ยูนิต มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 35,000 ล้านบาท
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในแต่ละปีในจังหวัดภูเก็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในจังหวัดภูเก็ต 35,501 หน่วย สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาพบว่ามีอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากถึง 12 โครงการ 3,338 หน่วย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 25,059 ล้านบาท ผู้พัฒนารายใหญ่ทั้งจากกรุงเทพมหานครและผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ต่างพากันเปิดตัวโครงการใหม่กันอย่างคึกคัก เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน), บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด(มหาชน), บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน), บริษัท บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป และบริษัท ซีจี แคปปิตอล แอดไวซอรี่ จำกัด เปิดตัวโครงการใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “เดอะ สแตนดาร์ด เรสซิเดนซ์ ภูเก็ต บางเทา” (The Standard Residences, Phuket Bang Tao) มูลค่าโครงการมากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งปกติแล้วคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในแต่ละปีในจังหวัดภูเก็ตมีเพียงแค่ปีละประมาณ 2,000 -3,000 ยูนิตต่อปีเท่านั้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก บวกกับการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเป็นเสมือนแรงผลักดันที่สำคัญให้ตลาดคอนโดมิเนียมในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งคาดการณ์ว่า สำหรับในปีพ.ศ.2567 อาจมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดอีกกว่า 8,500 ยูนิต
อุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่รายปีและอุปทานสะสมรายปี ตั่งแต่ปีพ.ศ. 2551 -ไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ. 2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
พื้นที่โซนบางเทา-เชิงทะเละ-รอบลากูน่า-กมลา ฮอตสุด ราคา 3-5 ล้านบาทสัดส่วน-อัตรดูดซํบมากสุด
ทั้งนี้ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีพ.ศ 2567 พบว่าในพื้นที่เกาะภูเก็ตมีอุปทานคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายในตลาดทั้งหมด 87 โครงการ ด้วยยูนิตขายทั้งหมด 25,591 ยูนิต ขายไปแล้ว 16,905 ยูนิตหรือคิดเป็นร้อยละ 66.05 ปรับตัวเพิ่มขั้นจากปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาร้อยละ 0.25 และมีหน่วยขายรอการระบายทั้งหมด 8,686 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 33.95 และพบว่าผู้พัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสนใจพัฒนาโครงการในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ บางเทา เชิงทะเล พื้นที่โดยรอบลากูน่า และกมลา เป็นต้น และส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ 1 ห้องนอนที่สัดส่วนร้อยละ 53.97 และพื้นที่ขนาด 31-50 ตารางเมตรที่สัดส่วนร้อยละ 48.63 และช่วงราคา 3.0-5.0 ล้านบาท พบว่ามีสัดส่วนที่สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 31.69
โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ผู้พัฒนารายใหญ่จากกรุงเทพมหานครจำนวนมากมองเห็นโอกาสการลงทุนเข้าไปเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก และหลายโครงการสามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่เกาะภูเก็ตในปีที่ผ่านมาคึกคักเป็นอย่างมาก มีอัตราการดูดซับเฉลี่ยต่อเดือนที่สูงถึงร้อยละ 5.80 และพบว่าคอนโดมิเนียมในเกาะภูเก็ตในช่วงราคา 3.0-5.0 ล้านบาทต่อยูนิตมีอัตราการดูดซับเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึงร้อยละ 6.50
อุปทานบ้านพักตากอากาศเปิดขายใหม่ในแต่ละปีและอุปทานสะสมรายปี ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
ไตรมาส1/67 อุปทานเปิดขายวิลล่าใหม่มากถึง 10 โครงการ มูลค่ากว่า 9,500 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี
สำหรับอุปทานเปิดขายใหม่ของบ้านพักตากอากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน โดยพบว่ามีอุปทานเปิดขายใหม่ของบ้านพักตากอากาศมากถึง 10 โครงการ จำนวน 237 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 9,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นอุปทานเปิดขายใหม่ที่สูงที่สุดเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะ โดยเฉพาะทำเลย่านบางเทา เชิงทะเล และพื้นที่โดยรอบลากูน่า เป็นต้น สำหรับทำเลย่านบางเทา และเชิงทะเลในปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ เช่น บริษัท ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล จำกัด(มหาชน) รวมถึงผู้พัฒนารายใหญ่จากกรุงเทพมหานคร เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน), บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด(มหาชน), บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน), บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด รวมถึง บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด(มหาชน) ให้ความสนใจเข้าไปพัฒนาโครงการบ้านพักตากอากาศบนทำเลย่านนี้เป็นครั้งแรก และหลายโครงการได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกำลังซื้อรัสเซีย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมตลาดบ้านพักตากอากาศในพื้นที่เกาะภูเก็ต ณ สิ้นไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2567 พบว่า มีอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 117 โครงการ ด้วยยูนิตขายทั้งหมด 2,545 ยูนิต และสามารถขายออกไปแล้ว 1,220 ยูนิต เหลือยูนิตรอการขาย 1,382 ยูนิต โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 98.00 เป็นประเภทบ้านเดี่ยว และอยู่ในช่วงราคาต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อยูนิตเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.89 ตามมาด้วยในช่วงระดับราคา 30-50 ล้านบาทที่สัดส่วนร้อยละ 41.10 และช่วงระดับราคา 30-50 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.09 และพบว่ามากกว่าร้อยละ 46.07 เป็นรูปแบบ 3 ห้องนอนและมีขนาดพื้นที่ใช้สอยในช่วง 300-500 ตารางเมตร
ตลาดบ้านพักตากอากาศในช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ได้ความสนใจจากำลังซื้อต่างชาติเป็นอย่างมาก รวมถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยทั้งจากกรุงเทพมหานครและคนไทยในพื้นที่ ลูกค้าจากประเทศกลุ่มยุโรป เช่น เยอรมัน เดนมาร์ก และกำลังซื้อจากชาติในกลุ่มเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง และ สิงคโปร์ เป็นต้น
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่าโครงการบ้านพักตากอากาศหลายโครงการสามารถปิดยอดการขายได้มากกว่าร้อยละ 80.00 เพียงแค่ในช่วงเวลาสั่นๆ หลังจากการเปิดขายเท่านั้น และส่วนใหญ่ถูกเหมาซื้อไปโดยกำลังซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารัสเซีย ทั้งที่ซื้อเพื่อการลงทุนและการอยู่อาศัย
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ตลาดบ้านพักตากอากาศและตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่เกาะภูเก็ตจะยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2567 ผู้พัฒนารายใหญ่ทั้งจากกรุงเทพมหานครและผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ยังคงมองเห็นโอกาสการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งพบว่า Branded Residence โครงการใหญ่ เช่นโครงการ The Standard Residences Phuket Bangtao รวมถึงผู้พัฒนารายใหญ่อีกเป็นจำนวนมากต่างรอการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างคึกคักในปีนี้ โดยเฉพาะทำเลย่าน บางเทา เชิงทะเล พื้นที่โดยรอบลากูน่า และกมลา เป็นต้น ถือว่าเป็นทำเลที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาของตลาดคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศในจังหวัดภูเก็ต โดยทำเลดังกล่าวส่วนใหญ่เน้นการขายแบบการรันตีค่าเช่าโดยมีทั้ง 5% 3 ปี หรือ 7% 3 ปี แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่ทุกโครงการ มียอดขายในส่วนของต่างชาติร้อยละ 49.00 ค่อนข้างจะเต็มทุกโครงการ แต่หากมีลูกค้าชาวต่างชาติสนใจเพิ่มเติมก็จะขายแบบเช่าระยะยาวแบบ 30 + 30 + 30 ปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการขายที่เพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่กำลังซื้อโดดเด่นเป็นอย่างมาก
คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพัทยารายครึ่งปีตั้งแต่ครึ่งแรกปีพ.ศ.2554 – ไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ.2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
คอนโดฯระดับลักชัวรียังเป็นที่ต้องการของดีมานด์ ขณะที่อุปทานใหม่กลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งทั้งในพื้นที่จอมเทียนและใจกลางเมืองพัทยา
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ. 2567 ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่พัทยากลับมาคึกคักอีกครั้ง อุปทานเปิดตัวใหม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนซึ่งเห็นได้ว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อุปทานใหม่กลับมาเปิดตัวอีกครั้ง และส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาของผู้พัฒนารายใหญ่จากกรุงเทพมหานครและผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ เช่น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ริเวียร่า กรุ๊ป จำกัด เป็นต้น โดยพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาอุปทานเปิดขายใหม่ 3 โครงการ 4,493 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 16,100 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่จอมเทียน และใจกลางเมืองพัทยา
อุปทานสะสมคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่พัทยารายครึ่งปีจำแนกตามทำเลที่ตั้ง ตั้งแต่ครึ่งแรกของปีพ.ศ.2554 – ไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ. 2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
โดยตั้งแต่ครึ่งแรกปีพ.ศ.2554 – ไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ.2567 มีอุปทานเปิดขายใหม่ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่พัทยาทั้งหมด 112,671 ยูนิต โดยพบว่าในพื้นที่ย่านจอมเทียนมีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมมากที่สุด 44,692 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 39.66 ตามมาด้วยในพื้นที่เขาพระตำหนัก 21,214 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 18.82 และในพื้นที่ใจกลางเมืองพัทยาจำนวน 21,077 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 18.70 ยูนิต และพบว่าสำหรับในปีพ.ศ. 2567 อาจมีอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดอีกกว่า 3,000 ยูนิต ในช่วงอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ และส่งผลให้อุปทานเปิดขายใหม่ในปีนี้อาจปรับตัวสูงกว่า 7,000 ยูนิต ซึ่งถือว่าเป็นอุปทานเปิดขายใหม่ที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน), บริษัท แสนสริ จำกัด(มหาชน) และ บริษัท แอสเซท ไวส์ จำกัด(มหาชน) เป็นต้น ซึ่งผู้พัฒนาทุกรายอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบโครงการและเตรียมที่จะเปิดตัวโครงการในอนาคตอันใกล้
อัตราการขายเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในพื้นที่พัทยา ณ สิ้นไตรแรกปีพ.ศ.2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
หมายเหตุ : อัตราการขายได้ไม่นับรวมโครงการคอนโดมิเนียมที่ชะลอการขายทั้งหมด 27 โครงการ 9,772 หน่วย
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปีพ.ศ. 2567 จากอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 47,800 ยูนิต สามารถขายออกไปแล้วประมาณ 36,471 ยูนิตคิดเป็นร้อยละ 76.29 เหลืออุปทานรอการขายอีก 11,329 ยูนิตคิดเป็นร้อยละ 23.71 โดยพบว่าในพื้นที่ใจกลางเมืองพัทยามีอัตราการขายที่สูงที่สุดที่ร้อยละ 87.28 ตามมาด้วยในพื้นที่จอมเทียนร้อยละ 79.49 และในพื้นที่ย่านนาจอมเทียนที่ร้อยละ 74.12 โดยพบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาโครงการคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นจำนวนมาก หลายโครงการสามารถปิดการขายได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมริมชายหาดทั้งในพื้นที่วงศ์อมาตย์และจอมเทียน เนื่องจากอุปทานคอนโดมิเนียมเหล่านี้ค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัดและมียูนิตรอการขายที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้มองว่าการพัฒนาโครงการในทำเลพัทยาไม่ควรเกิน 3,000-5,000 ยูนิต เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้ตลาดกลับไปเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายได้อีกครั้ง
อุปทานเปิดขายใหม่คอนโดมิเนียมในพื้นที่หัวหิน ชะอำ และปราณบุรี จำแนกรายครึ่งปี ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ.2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
“ตลาดคอนโดฯ-บ้านพักตากอากาศ พื้นที่หัวหินฝั่งทะเลยังได้รับการตอบรับจากกำลังซื้อ
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่าตลาดคอนโดฯในพื้นที่ชะอำ ยังมีการโอเวอร์ซัพพลายอย่างชัดเจน มีอัตราการขายต่ำ ส่งผลให้การระบายสินค้าออกไปได้ช้า คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการระบายสินค้าถึง 10 ปี จึงจะหมด ซึ่งแตกต่างจากตลาดหัวหิน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในพื้นที่ใจกลางเมืองหัวหินยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าและผู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมามีอุปทานเปิดขายใหม่ 2 โครงการ 671 ยูนิต ซึ่งถือว่าอุปทานเปิดขายใหม่ที่สูงที่สุดในรอบ 12 ไตรมาส มูลค่าการลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยตั้ง 2 โครงการเป็นการพัฒนาของ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้พัฒนารายใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ และ 1 ในนั้นคือโครงการ The Standard Residences Hua Hin มูลค่าโครงการรวม 4,500 ล้านบาท เป็นโครงการ Beachfront branded residences แห่งแรกในเอเชียเปิดตัวเป็นแห่งที่ 3 ของโลก โครงการตั้งอยู่บนไพร์มโลเคชั่นบนที่ดินหายากติดหาดหัวหินที่สามารถพัฒนาโครงการใหญ่แบบฟรีโฮลด์ พร้อมกับ Beachfront Pool Villa ในราคายูนิตละ 100 ล้านบาท เพียง 2 ยูนิตเท่านั้น
อุปทานเปิดขายใหม่คอนโดมิเนียมในพื้นที่หัวหิน ชะอำ และปราณบุรี จำแนกตามพื้นที่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ.2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ยังมีเพียงแค่ในพื้นที่เมืองหัวหิน ทั้งในพื้นที่หัวหินฝั่งทะเลและหัวหินฝั่งภูเขา ซึ่งเป็นทำเลยอดนิยมของกลุ่มลูกค้า โดยในพื้นที่ชะอำไม่พบว่ามีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมมากว่า 7 ปีนับตั้งแต่ในปีพ.ศ. 2559 และคาดการณ์ว่าในพื้นที่ชะอำยังคงไม่มีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีอุปทานรอการขายอีกเป็นจำนวนมากและทั้งหมดเป็นอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและรอการขาย
อัตราการขายคอนโดมิเนียมในพื้นที่หัวหิน ชะอำ และ ปราณบุรีจำแนกตามพื้นที่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ.2567
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 จากอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายในตลาดทั้งหมด 15,790 ยูนิต สามารถขายได้แล้ว 11,115 ยูนิตคิดเป็นร้อยละ 70.39 และมี ยูนิตรอการขายอีกทั้งหมด 4,675 ยูนิตหรือคิดเป็นร้อยละ 29.61 หากจำแนกตามพื้นที่จะพบว่า พื้นที่หัวหินฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการขายที่สูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 81.92 ตามมาด้วยในพื้นที่หัวหินฝั่งภูเขาคิดเป็นร้อละ 69.75 สำหรับในพื้นที่ชะอำและปราณบุรีพบว่า อัตราการขายใหม่ค่อนข้างเป็นไปอย่างช้าๆ และยูนิตที่รอการขายทั้งหมดเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและยังมียูนิตรอการขาย แตกต่างกับในพื้นที่ใจกลางเมืองหัวหินทั้งในพื้นที่หัวหินฝั่งภูเขาและฝั่งทะเลที่มีอัตราการขายได้ใหม่ที่ค่อนข้างเร็ว สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่ใจกลางเมืองหัวหินยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจทั้งจากกลุ่มลูกค้าและผู้พัฒนาที่ยังมองเห็นโอกาสการพัฒนาเข้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง