news-details
Business

“ไทวัสดุ”ประกาศแผน 5 ปี ภายใต้ 3 กลยุทธ์ ดันรายได้รวมแตะ 7 หมื่นล้านบาท ขยายปีละ 7-10 สาขา เม็ดเงินลงทุน 7 พันล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี

ซีอาร์ซี ไทวัสดุฯกางแผน 5 ปี ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ตั้งเป้ารายได้แตะ 70,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ขยายเพิ่มปีละ 7-10 สาขา ใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท/ปี ระบุลูกค้าหลักยังเป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง เผยความสำเร็จจากปี 66 ยอดขายทะลุเป้ากว่า 40,000 ล้านบาท ทั้งมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจฮาร์ดไลน์สีเขียว ด้วยกลยุทธ์ CRC’s “ReNEW”  ผ่าน 4 แกนหลัก พุ่งเป้าเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

นายสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ CRC เปิดเผยถึง ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมาว่า ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของซีอาร์ซี ไทวัสดุ ยังติดลบ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจอยู่ไนช่วงเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และยังไม่มีปัจจัยหนุนจากภาครัฐเข้ามา ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศยังไม่กลับมาฟื้นตัวดี ทำให้ยอดขายมีการชะลอตัว แต่เริ่มเห็นยอดขายสาขาเดิมกลับมาดีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน และต้นเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ กลับมาดีขึ้นบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ทยอยออกมา แต่เชื่อว่าจะเห็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/2567 ที่คาดว่าจะมีปัจจัยหนุนจากสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาว่าจะดำเนินการ เช่น เงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือการปรับลดของอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น หากทำได้ก็จะเอื้อให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯฟื้นตัวดีขึ้น กำลังซื้อก็จะกลับมา

ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน มองว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานไม่มากเพียง 3-4% เท่านั้น เพราะค่าแรงที่บริษัทจ่ายให้แก่พนักงานส่วนใหญ่เกิน 400 บาท/วัน อยู่แล้ว แต่สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากกว่าในเรื่องค่าแรง คือ การพัฒนาบุคคลากร พนักงาน ของซีอาร์ซี ไทวัสดุ ให้มีศักยภาพ และประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพของบุคคลากรและพนักงาน เพื่อทำให้การทำงานของทุกคนในองค์กรมีความสุข และร่วมกันผลักดันธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯในช่วงระยะเวลา 5 ปีนี้ (ปี 2567-2571) ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นไปแตะที่ 70,000 ล้านบาท โดยสิ้นปี 2566 ที่มีรายได้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 12% ต่อปี จากมูลค่าตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท  โดยจะมีการขยายเฉลี่ย 7-10 สาขา/ปี ใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะมีการขยายสาขาในหลากหลายแพลตฟอร์มในกลุ่มซีอาร์ซี ไทวัสดุ ทั้งรูปแบบ Hybrid Format (White Format)โดยผนึกจุดแข็งของแบรนด์ไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮม ให้เป็นศูนย์รวมสินค้าวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์งานช่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเพื่อบ้าน ของตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้าทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง ช่าง และเจ้าของบ้าน ด้วยพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร รวบรวมสินค้ามากถึง 50,000 รายการ และยังเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มยอดขายได้ถึง 30% โดยปัจจุบันมีจำนวน 103 สาขาทั่วประเทศ  บนพื้นที่ขายรวมกว่า 1,400,000  ตารางเมตร แบ่งเป็นไทวัสดุ 78 สาขา และบีเอ็นบี 25 สาขา ซึ่งสาขาที่ทำยอดขายได้สูงสุดคือ บางนา,สุขาภิบาล3,ภูเก็ตและหาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ในสัดส่วน 30% แต่สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 60% ที่เหลือจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นเจ้าของบ้าน 70% แต่สามารถสร้างยอดขายได้ 40%

โดยในแผน 5 ปีนั้น จะมีกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยนำไทวัสดุเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน 3 เรื่องหลัก คือ

1.Hybrid Format (White Format) เมื่อปี 2564 ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการธุรกิจค้าปลีก ในการผู้นำรายแรกเปิดตัว New Store Model รูปแบบ Hybrid Format (White Format) โดยผนึกจุดแข็งของแบรนด์ไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮม ให้เป็นศูนย์รวมสินค้าวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์งานช่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเพื่อบ้าน ของตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้าทั้งผู้รับเหมา ช่าง และเจ้าของบ้าน ด้วยพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร รวบรวมสินค้ามากถึง 50,000 รายการ และยังเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มยอดขายได้ถึง 30% โดย ณ สิ้นปี 2567 จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 16 สาขา ได้แก่ ศรีสมาน, บางแสน, รังสิต คลอง4, ภูเก็ต ฉลอง, เมืองเอก, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ สันทราย, บางใหญ่ ,นครอินทร์, อุดรธานี กุดสระ, พระราม 3 , บางนา, บางบัวทอง, สุขาภิบาล 3, ภูเก็ต และขอนแก่น

2.Outperforming Online Shopping  ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การ ช็อปปิ้งออนไลน์ไม่มีสะดุด โดยเฉพาะการพัฒนาฟีเจอร์ (Feature) ที่มีความเป็น Unique only at Thaiwatsadu ที่เดียวเท่านั้นผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน อาทิ

     -Daily Steel Price Ordering Online: เจ้าแรกในตลาด ที่อัพเดตราคาเหล็กออนไลน์รายวัน สั่งซื้อได้ทันที และมีตัวช่วยในการคำนวนน้ำหนักรวมเหล็ก ช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถบริหารจัดการสต๊อกและต้นทุนเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     -Feature Mixed Paint & Calculator: ครั้งแรกในวงการสีเมืองไทย ที่ลูกค้าและผู้รับเหมาสามารถเลือกซื้อสีผสมทาอาคารกว่า 20,000 เฉดสีได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสามารถคำนวนปริมาณสีที่ต้องใช้ในพื้นที่ที่ต้องการ

     -Tailor Made Curtains Calculator: โปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยให้การคำนวนผ่าม่านสั่งตัดเป็นเรื่องง่าย สามารถคำนวนความกว้าง ความยาวตามที่ต้องการ มีให้เลือกหลากหลายสไตล์ และเฉดสี พร้อมมีบริการติดตั้งจากช่างมือ 1 vFIX

 

ทั้งนี้ จากการเสริมความแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายในช่องทางออนไลน์ได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2571 จากปีก่อนที่ 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของซีอาร์ซี ไทวัสดุ ที่เป็น No.1 Omnichannel DIY Home Retailer และเป็นเบอร์ 1 ด้าน Innovative ในอุตสาหกรรมด้วยปัจจัย

-Mobile-First DIY Features - พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆบนมือถือก่อนเพื่อความสะดวกแก่ลูกค้า และออกแบการใช้งานเฉพาะทางสำหรับผู้รับเหมาโดยเฉพาะ

-Quick Fulfillment - ยกระดับการให้บริการส่งสินค้าที่รวดเร็ว อาทิ ซื้อสินค้าออนไลน์ สามารถได้ทุกสาขา รวมถึงการส่งคืนหรือเปลี่ยนสินค้าด้วย (Click & Collect) หรือ จัดส่งด่วน (Express Delivery) ภายใน 2 ชั่วโมง, การจัดส่งสินค้าภายในวัน และวันถัดไป (Same Day & Next Day Delivery)

-Complete Product Range  มีสินค้าครบหมวดเรื่องบ้านกว่า 50,000 รายการ นอกจากจะมีสินค้าที่มีจำหน่ายเหมือนในร้านแล้ว ยังมีสินค้าพิเศษ (Extended Range) ให้เลือกอีกมากมายตามความต้องการ ลูกค้าได้ของครบ จบงานง่าย ใน 1 คำสั่งซื้อ

3.Supply Chain Movement เป็นผู้นำเจ้าแรกในวงการธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง เปิดตัวการใช้รถบรรทุกพ่วงแม่ลูกพลังงานไฟฟ้า (EV Truck) เข้ามาใช้ในการขนส่งสินค้า รองรับการเติบโตของธุรกิจ จึงได้พัฒนาระบบกรีนโลจิสติกส์ (Green Logistics) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2567 จะเพิ่มจำนวนรวม 80 คัน คิดเป็น 32% จากรถขนส่งทุกประเภททั้งหมด ขนส่งสินค้าได้มากกว่า 700,000 พาเลท ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถึง 7,000 ตัน ทั้งนี้ แม้ว่าต้นทุนราคารถพ่วง EV Truck จะสูงกว่ารถบรรทุกดีเซล แต่ในระยะยาวจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง และการดูแลเครื่องยนต์ลดลงได้ถึง 16% ต่อปี

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจฮาร์ดไลน์สีเขียว ตามเจตนารมณ์ของเซ็นทรัล รีเทล ในการเป็น Green & Sustainable Retail ผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

 

ด้วยกลยุทธ์ CRC’s “ReNEW”  ที่เป็นกรอบการดำเนินงาน 4 แกนหลัก ได้แก่      

1.Re = Reduce Greenhouse Gases ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการติดตั้ง Solar Rooftop ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 จำนวน 75 สาขา ส่งผลให้ลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ถึง 40% และในปี 2567 เร่งติดตั้งเพิ่มอีก 15 สาขา ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าสะสมได้มากกว่า 101 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2.5 ล้านต้น  

2.N = Navigate Society Well-being สร้างสังคมให้น่าอยู่ โดยจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมและชุมชน 11 โครงการครอบคลุม 9 จังหวัด เอื้อประโยชน์ให้กับผู้คนในพื้นที่ไปกว่า 700,000 คน อาทิ การจ้างงานผู้พิการกว่า 100 คนภายในสาขา และศูนย์บริการลูกค้า Contact Center โครงการ “รวมหัวใจให้บ้านเกิด” เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมตอบแทนชุมชนในภูมิลำเนาของตนเอง

3.E = Eco-Friendly Product and Packaging  ส่งเสริมสินค้า Eco Product และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้ร่วมค้าซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ กว่า 4,000 รายการ

4.W = Waste Management การจัดการขยะมูลฝอยในโครงการ Save World ผ่านแนวคิด 3Rs คือ Reduce, Reuse และ Recycle ที่สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และลดขยะได้ถึง 1,117 ตัน

 

“ปี 2566 นับเป็นปีแห่งความสำเร็จของซีอาร์ซี ไทวัสดุ ที่มียอดขายรวมโตสูงสุด 40,000 ล้านบาท จาการดำเนินธุรกิจตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ภายใต้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 11%  โดยนอกจากความสำเร็จในเชิงรายได้แล้ว ยังได้มุ่งเร่งแผนการขยายสาขาไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮมทุกฟอร์แมตถึง 14 สาขา ภายในปีเดียว ถือว่าเป็นปรากฏการณ์การเติบโตที่สวนกระแสเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมมีจำนวนสาขาถึง 90 แห่ง ครอบคลุม 47 จังหวัดทุกภูมิภาค ในภาพของการเติบโตของช่องทางการขายออนไลน์ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 ที่ได้รับแรงผลักดันต้องปรับตัวจาก วิกฤติ COVID 19 และ Digital Disruption ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงทำให้เร่งพัฒนาระบบ E-Commerce เพื่อขายสินค้าและให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบทุกช่องทาง พัฒนาเพื่อสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมียอดขายพุ่งแตะระดับ 1,400 ล้านบาท ภายในเวลา 4 ปี อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ถึง 145% มีลูกค้าใหม่ที่ ช้อปออนไลน์มากกว่า 5,000 คน/เดือน ครองใจลูกค้าเดิมให้มีการซื้อซ้ำถึง 60% และซื้อเฉลี่ย (basket size) สูงขึ้น 12%YoY โดยจำนวนลูกค้าในภาพรวมที่ซื้อทั้งหน้าร้านและออนไลน์ (Omnichannel Customers) เติบโตสูงขึ้น 46%YoY จากตัวเลขดังกล่าวช่วยการันตีได้ว่าในทุกช่องทางการขายสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”นายสุทธิสาร กล่าวในที่สุด

 

You can share this post!