“ดร.มนพร” เปิดประชุม Market Sounding โครงการแลนด์บริดจ์ เชิญชวนเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
วันนี้ (30 พฤษภาคม 2567) ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน สถานทูต และสื่อมวลชน ร่วมการประชุม ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
ดร.มนพร กล่าวว่า การพัฒนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้า และการขนส่งแห่งใหม่ของอาเซียน ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการแลนด์บริดจ์ ให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการ และเชิญชวนเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน
ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และประเทศฝั่งตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ คือ การทดสอบความสนใจในการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการและสร้างความสนใจให้แก่นักลงทุน เช่น ข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ การตลาด อสังหาริมทรัพย์ โครงข่ายคมนาคมและการเชื่อมต่อ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสร้างความสนใจแก่ภาคเอกชน นักลงทุน เพื่อประเมินศักยภาพตลาด พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับรายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ จะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium) ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ ในขณะเดียวกัน สนข. ได้เร่งจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อกำกับดูแลโครงการซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนกันยายน 2567
ทั้งนี้ หลังจากสัมมนาครั้งนี้ สนข. และที่ปรึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้ได้รูปแบบปัจจัยความเป็นไปได้ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในการลงทุน สามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสมคุ้มค่ามากที่สุด