"สุรพงษ์" เกาะติดความก้าวหน้าการดำเนินงานของการรถไฟฯ ในทุกมิติ เน้นสร้างรายได้เพิ่ม ยกระดับการขนส่งทางรางของประเทศ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อต้องการติดตามติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในทุกมิติของการรถไฟฯ โดยได้มอบนโยบายเพิ่มเติมในเรื่องของการสร้างรายได้เพิ่ม แก้ปัญหาการขาดทุน ซึ่งหลังจากที่ได้มอบนโยบายในการตรวจเยี่ยมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้การดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เกิดความต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งทางรางของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ กับระบบขนส่งอื่นๆ ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุนการขนส่ง พร้อมกับขยายขีดความสามารถการแข่งขันโลจิสติกส์ของไทยกับนานาประเทศได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้การรถไฟฯ ได้ดำเนินการก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร
จากนั้นมีแผนเปิดใช้ทางคู่เพิ่มระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง ช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมระยะทาง420 กิโลเมตร ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กม. ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 9.695 และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่ - หนองพอก สัญญา 2 หนองพอก - สะพานมิตรภาพ 3 ก้าวหน้าแล้วร้อยละ 2.578 อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้าง
ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฯ ไปแล้ว และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ขณะนี้มีความก้าวหน้าภาพรวมที่ร้อยละ 33.52 ซึ่งแยกเป็นงานส่วนโยธา 14 สัญญา สามารถก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา นอกจากนี้ ยังมีสัญญางานระบบฯ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญา จึงมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ยังมอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดแผนการจัดหารถจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งแก่พี่น้องประชาชน ประกอบด้วย แผนการจัดหารถจักรจำนวน 113 คัน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระบบ EV on Train จำนวน 17 คัน และรถดีเซลราง 184 คัน เพื่อนำมาทดแทนรถเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้การรถไฟฯ มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการ โดยเฉพาะเมื่อเปิดเดินรถรถไฟทางคู่ และเส้นทางใหม่ๆ ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งจัดทำแผนท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมศักยภาพ การเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยล่าสุด การรถไฟฯ มีแผนเตรียมเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ SRT Royal Blossom ซึ่งเป็นรถที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน นำมาปรับปรุงเป็นรถไฟท่องเที่ยว โดยปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 5 คัน และพร้อมเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพให้ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่การให้บริการประชาชน ได้สั่งการให้การรถไฟฯ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น โดยหลังจากการรถไฟฯ ขยายเวลาเปิดให้บริการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 90 วัน ในขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วนจำนวน 32 ขบวนไปแล้ว ล่าสุด ได้เตรียมเปิดให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าเพิ่มในขบวนรถเร็ว รถนำเที่ยว และรถพิเศษโดยสาร อีก 26 ขบวนรถ รวมทั้งสิ้น 58 ขบวน ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าครบทุกขบวนที่มีการเปิดให้สำรองที่นั่ง โดยถือเป็นการอำนวยความสะดวก ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนให้มีโอกาสวางแผนในการเดินทางล่วงหน้าได้นานขึ้น
ที่สำคัญ ในเร็วๆ นี้ การรถไฟฯ เตรียมร่วมหารือกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะร่วมกัน ด้วยการจัดทำระบบ One ID One Ticket สำหรับให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้รหัสสมาชิกรหัสเดียวจองตั๋วโดยสารรถไฟ และตั๋วรถ บขส. ได้ในระบบเดียวกัน เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแบบไร้รอยต่อให้กับประชาชน
นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากการรับฟังรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติภารกิจของการรถไฟฯ ในครั้งนี้ จะมีการติดตามความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย มั่นใจว่าหากโครงการต่างๆ ดำเนินการอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะช่วยยกระดับการให้บริการการเดินทางที่ดีแก่พี่น้องประชาชน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง