กรมทางหลวง เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วง บางบัวทอง – ลาดหลุมแก้ว และเสนอขอใช้เงินกู้จากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีความพร้อมดำเนินการ เพื่อขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามขั้นตอนแนวทางที่กำหนดไว้ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 จำนวน 53 โครงการ วงเงินรวม 146,803.44 ล้านบาท สำหรับรายการที่ดำเนินการโดยกรมทางหลวง (ทล.) มีจำนวน 46 โครงการ ที่จะดำเนินการในปี 2567-2569 วงเงินรวม 91,643.4450 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินที่จะขอตั้งงบปี 2567 จำนวน 18,328.6890 ล้านบาท
โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วง บางบัวทอง - ลาดหลุมแก้ว เป็น 1 ใน 46 ของ ทล. ซึ่งโครงการนี้ มีความพร้อมเรื่องแบบรูปรายการ ประมาณการค่าก่อสร้าง และเป็นการก่อสร้างปรับปรุงในเขตทางหลวงเดิมทั้งหมด ไม่มีการเวนคืน เป็นโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่ง ครม. ได้รับทราบมติเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 แล้ว
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ช่วง บางบัวทอง - ลาดหลุมแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาโครงข่ายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน (M9) ให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเต็มรูปแบบที่มี การควบคุมการเข้าออกตลอดสาย (Fully controlled access)
โดยแนวเส้นทางเชื่อมโยงการเดินทางจากด้าน ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ไปสู่ภาคเหนือ จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากจุดปลายของ โครงการก่อสร้างทางหลวง พิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง (M9) และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณ ทางแยก ต่างระดับบางปะอิน ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยัง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 ด้านตะวันออก บาง ปะอิน - บางพลี และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ได้ วงเงินงบประมาณโครงการรวม 4,300 ล้านบาท ขอใช้เงินกู้ 2,077.2947 ล้านบาท และ เงินงบประมาณสมทบ 2,222.7053 ล้านบาท
การเสนอโครงการดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอน และแนวทางที่กำหนดไว้ ในการขอตั้งงบประมาณปี 2567 ที่มี ความพร้อม เพื่อให้ ครม. พิจารณาอนุมัติในหลักการ ก่อนที่ ทล. จะเสนอคำขอตั้งงบประมาณ เช่นทุกปีที่ผ่านมา
จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทล. ได้รับข้อสังเกต และความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ และจะได้ประสานสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เพื่อขอบรรจุโครงการ นี้ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่ง ทล. ได้มีการประสาน สบน. อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยจะดำเนินการให้เป็นไป ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับในขั้นตอนตามแผนงานในโครงการนี้ ทล. ได้เตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการ โดย ใช้แหล่งเงินกู้ภายในเดือนธันวาคม 2566 และเมื่อได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว ทล. จะเสนอ สบน. เพื่อบรรจุโครงการ ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะและเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป