วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจสอบรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) ซึ่งเริ่มให้บริการเดินรถตามปกติ ครบทั้ง 23 สถานี แก่ประชาชนผู้ใช้บริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยคณะได้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เพื่อตรวจเส้นทางจากสถานีหัวหมาก (YL11) ไปยังสถานีศรีเอี่ยม (YL17) พบว่า การเดินรถเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถให้บริการประชาชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยได้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานซ่อมบำรุงเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชิ้นส่วนตัวยึดรางร่วงหล่นลงบนถนนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้ รฟม. กำกับผู้รับสัมปทานเร่งดำเนินการซ่อมบำรุงเส้นทางให้คืนสภาพสมบูรณ์และปลอดภัย เพื่อให้รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง จนสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ตามปกติแล้ว โดยที่ผ่านมา ผู้รับสัมปทานจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบอุปกรณ์รอยต่อและรางจ่ายไฟที่ติดยึดกับทางวิ่งตามคู่มือซ่อมบำรุงลงจากทุกรอบ 6 เดือน เป็นทุก 2 เดือน และในจุดที่เฝ้าระวังพิเศษ จะมีการตรวจสอบทุก 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบกล้องตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำและความครอบคลุม ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมคำนึงถึงความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและประชาชนเป็นสำคัญ รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ถือเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกของประเทศไทยที่เพิ่งเปิดให้บริการเดินรถได้เพียงไม่นานนัก ถือเป็นรถไฟฟ้าระบบใหม่ที่ทุกภาคส่วนทั้ง รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะต้องเร่งสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการเดินรถด้วยมาตรฐานที่ดี มีความปลอดภัยสูงสุดให้สำเร็จให้ได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังจำเป็นจะต้องให้ความใส่ใจต่อประชาชนที่เป็นผู้สัญจรทางถนนในแนวสายทางรถไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย
โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายคือประโยชน์ของประชาชนได้ กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะผลักดันให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นทางเลือกในการเดินทางที่ดีและสามารถจูงใจประชาชนได้ ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการขยายเมือง สอดคล้องตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” อย่างแท้จริง
ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า งานการดำเนินการซ่อมบำรุงเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ช่วงสถานีกลันตัน (YL12) - สถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) โดยผู้รับสัมปทานได้ทำการรื้อถอนรางจ่ายกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ยึดจับรางฯ ที่เสียหายออกจากระบบ เปลี่ยนแผ่นเชื่อมคานทางวิ่ง (Finger Type Expansion Joint) ที่ชำรุด ณ จุดเกิดเหตุเป็นชุดใหม่ และนำรางจ่ายกระแสไฟฟ้าชุดใหม่ขึ้นติดตั้งแทนของเดิม จากนั้น รฟม. ได้ร่วมกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ติดตามการทดสอบระบบต่างๆ และตรวจประเมินความพร้อมของระบบ ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะกลับมาเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ตามปกติครบทั้ง 23 สถานี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เปิดให้บริการระหว่างเวลา 06.00 – 00.00 น. ด้วยความถี่ทุก 10 นาทีต่อขบวน นอกช่วงเวลาเร่งด่วน และความถี่ทุก 5 นาทีต่อขบวน ในช่วงเวลาเร่งด่วน (วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 07.00 – 09.00 น. และเวลา 17.00 – 20.00 น.)
โดยหลังจากนี้ รฟม.จะติดตามคุณภาพในการให้บริการและความเชื่อมั่นในการใช้บริการของผู้โดยสารต่อไป ทั้งนี้ รฟม. ยังได้กำชับผู้รับสัมปทานปรับปรุงคู่มือซ่อมบำรุงให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และอยู่ในสภาวะที่พร้อมสำหรับการให้บริการเดินรถแก่ประชาชน และให้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองได้อย่างยั่งยืน ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
ขณะที่ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว -สำโรง เกิดเหตุรางนำไฟฟ้าหลุดตกลงมาค้างบนทางเดินฉุกเฉิน และมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง ช่วงระหว่างสถานีกลันตันถึงสถานีศรีอุดม ซึ่งแม้จะเปิดให้ผู้โดยสารใช้บริการมา แต่ก็ต้องเปลี่ยนขบวน ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง โดยปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้บริการตามปกติ ครบทั้ง 23 สถานี (ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว - สถานีสำโรง)
ทั้งนี้ ก่อนจะมีการทดสอบการให้บริการตามปกติ ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตาม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยได้มีการดำเนินการตรวจสอบรอยต่อคานทางวิ่ง (expansion joint) ทั้งโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีการตรวจเช็คมาร์คหัวนอต เพื่อสังเกตการคลายตัวของนอต การเคาะแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของตัวแผ่นเหล็กจากเสียงที่เกิดขึ้น การใช้อุปกรณ์พิเศษรูปตัวแอล สอดไปบริเวณระหว่างหัวนอตกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบนอตที่ไม่แนบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หรือการขันทอร์กด้วยเครื่องมือตรวจวัดค่าทอร์กที่มีการสอบเทียบ (calibrate) เพื่อตรวจสภาพเกลียวของรูนอตก่อนเปลี่ยนนอตใหม่ให้แนบกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) ซึ่งการดำเนินการนี้ ยังมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องต่อไป
ขร. ได้กำชับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการ (EBM) ผู้รับสัมปทานให้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสภาพโครงสร้าง ขบวนรถไฟฟ้า อุปกรณ์ทุกชิ้น โดยเพิ่มความถี่ในการขันทอร์กจาก 4 เดือนเป็น 2 เดือน และถี่กว่านั้นในส่วนที่สำคัญเพื่อป้องกันความผิดพลาดและมีความปลอดภัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ผูัให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองและสายสีชมพูได้ดำเนินการติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง หากมีตำแหน่งคลาดเคลื่อนจากเดิม จะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งได้ดำเนินการซ่อมบำรุงตามคู่มือและแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจสูงสุดในการใช้บริการระบบราง