news-details
Business

AOT ดันไทยเป็นฮับการบิน เดินหน้าขยายสนามบินเต็มเฟส หวังติด “TOP 20 ดีที่สุดในโลก” ภายใน 5 ปี

ภายหลังจากสถานการณ์โควิด- คลี่คลาย ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายมาตรการ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศไทยคึกคักเป็นอย่างมาก

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับการบินในภูมิภาค ผ่านการบริหารงานสนามบินทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ (ทสภ.) ดอนเมือง (ทดม.) เชียงใหม่ (ทชม.) แม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ภูเก็ต (ทภก.) และหาดใหญ่ (ทหญ.)

สนามบิน 6 แห่ง ฟื้นตัวโดดเด่น

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66 - พ.ค. 67) สนามบินทั้ง 6 แห่ง ฟื้นตัวจนเกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน ฟื้นตัว 85.8% และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน ฟื้นตัว 80% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 80.9% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 83.5% และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 77.9%

คาด 10 ปี ผู้โดยสารทะลุ 210 ล้านคน

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศสนามบินทั้ง 6 แห่ง ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2572) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2577) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

ดันสนามบินของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

จากประมาณการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่วางเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และเพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นอกจากนั้น นโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดเป้าหมายตามภารกิจโดยให้การเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยในทุกมิติ ดังนั้น AOT จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล

พัฒนาสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน

ปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต โดยเฉพาะ ทสภ.ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุดกว่า 40 ล้านคน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร และอยู่ระหว่าง

การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงปลายปี 2567 ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ AOT ได้วางแผนพัฒนา ทสภ. อย่างต่อเนื่องจนถึง Ultimate Phase โดยได้วางแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2: SAT-2) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ทุ่ม 3.6 หมื่นล้าน ปั้นดอนเมืองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน

สำหรับ ทดม.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 วงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) มีพื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 22 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573

พัฒนาภูเก็ต เฟส 2 รับผู้โดยสารเพิ่ม 18 ล้านคน

ทางด้านภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ทภก.ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารกว่า 13 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 6.21 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572

ทุ่ม 8 หมื่นล้าน ปั้นสนามบินอันดามัน

สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน (ทภก. แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 7,300 ไร่ งบประมาณลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอดโดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจาก ทภก. 23.4 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 26 นาที โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

ใช้งบกว่า 1.5 หมื่นล้าน เพิ่มขีดความสามารถเชียงใหม่

ในส่วนภาคเหนือซึ่งมีผู้โดยสารหนาแน่นเช่นกัน AOT มีแผนจะเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้สามารถรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทชม.ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569

ลงทุน 7 หมื่นล้าน ผุดสนามบินล้านนา

และสำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา (ทชม. แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 8,050 ไร่ งบประมาณลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจาก ทชม. 22 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 32 นาที โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

เตรียมแผนบริหารงานสนามบิน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน

สำหรับการเข้าบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นั้น เมื่อสามารถเข้าบริหารได้แล้ว AOT มีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3.4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีวงเงินลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท และจะพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 780,000 คนต่อปี เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนประมาณ 460 ล้านบาท สำหรับท่าอากาศยานกระบี่จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 12 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท

You can share this post!