“สุริยะ” เอาจริง! มอบ รฟม. ส่งหนังสือถึง NBM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู จ่อดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุด หลังเกิดเหตุประตูขบวนรถเปิดกลางทาง ลั่น! ไม่สามารถประนีประนอมหรือต่อรองได้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีประตูบางส่วนของขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เปิดที่สถานีลาดปลาเค้า (PK18) เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า ตนไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร จึงได้กำชับให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุดกับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ถือเป็นเรื่องความปลอดภัยด้านการขนส่งสาธารณะของประชาชน ประกอบกับในช่วงปีที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้ามหานคร ทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่ดำเนินการโดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้เกิดอุบัติเหตุมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ ไม่สามารถประนีประนอม หรือต่อรองได้
อย่างไรก็ตาม มอบหมายให้ รฟม. ส่งหนังสือไปยังผู้รับสัมปทานถึงบทลงโทษที่จะดำเนินการจากกรณีที่เกิดขึ้น อีกทั้ง หากไม่เร่งรัดปรับปรุงมาตรการในการดำเนินการตามที่สัญญากำหนดไว้จะบันทึกผลงาน และถูกตัดคะแนน รวมถึงห้ามเข้าร่วมประมูลงานของกระทรวงฯ และจะมีการลดลำดับชั้นผู้รับเหมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเน้นย้ำด้านความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลา 7.01 น. ของวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 โดยขบวนรถไฟฟ้าหมายเลข 10 กำลังเคลื่อนที่ออกจากสถานีลาดปลาเค้า (PK18) มุ่งหน้าไปสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ทางเจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้าได้ยินเสียงดังผิดปกติ ลักษณะคล้ายกับมีวัตถุกระแทกกับตัวรถหลายครั้ง จึงได้ทำการกดปุ่มควบคุมเพื่อหยุดรถฉุกเฉินทันที และแจ้งเหตุให้ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) รับทราบเหตุการณ์ จากการตรวจสอบพบว่าประตูรถไฟฟ้าได้หนีบกระเป๋าผู้โดยสารติดอยู่กับประตูด้านนอกขบวนรถบริเวณตู้โดยสารสุดท้ายที่ยังคงอยู่ในเขตชานชาลา
จากนั้นห้องศูนย์ควบคุมจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้า ทำการเปิดประตูบานที่หนีบกระเป๋า โดยการใช้กุญแจประจำขบวนรถไขเพื่อเปิดประตู แต่ไม่สามารถทำการไขเพื่อเปิดประตูบานดังกล่าวได้ ห้องศูนย์ควบคุมจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้ายกเลิกระบบควบคุมรถอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้าเข้าทำการควบคุมรถด้วยตนเอง แต่ด้วยการสื่อสารที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกับห้องศูนย์ควบคุม จึงได้ทำการเปิดประตูรถไฟฟ้าฝั่งชานชาลาที่กระเป๋าติดอยู่ และสร้างความไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร รฟม. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้แจ้งกำชับให้ผู้รับสัมปทาน ทบทวนการปฏิบัติงานต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้มีความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้โดยสาร และมิให้ดำเนินการใดๆ ที่อาจเกิดอันตรายต่อผู้โดยสารเป็นอันขาด โดย รฟม ขอสงวนสิทธิพิจารณาดำเนินการตามบทลงโทษในสัญญาโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีก และเพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นคืนจากประชาชนผู้ใช้บริการ