news-details
Business

ค่าเงินบาท "ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง" เปิดเช้านี้ที่ 36.39 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาท “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดเช้านี้ที่ 36.39 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์ รอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.39 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.37-36.48 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงเกือบทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากถ้อยแถลงในช่วงก่อนหน้า ซึ่งประธานเฟดยังคงย้ำว่า เฟดยังรอความชัดเจนของแนวโน้มเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันประธานเฟดก็มองเห็นถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หากเฟดใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวนานเกินไป

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้มีความ Dovish มากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ราว 2 ครั้ง และมีโอกาสราว 76% ที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังราคาทองคำพลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ซึ่งเราประเมินว่า อาจไม่ได้มีความแตกต่างจากถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในวันก่อนหน้า ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และจังหวะการลดดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้

ส่วนทางฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน พร้อมจับตาผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.50%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจว่า แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงต่อเนื่องได้ จนทำให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ทำให้ เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวโซน 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินหยวนจีน (CNY) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของจีน (ในช่วงราว 8.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวยังคงสะท้อนภาพการใช้จ่าย การบริโภคในจีนที่ยังคงซบเซา ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน กดดันให้เงินหยวนจีนมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ได้บ้าง ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ตราบใดที่ ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัว sideways หรือปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์

You can share this post!