การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment ย่อว่า EIA) หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจนิยามได้ว่าเป็น “กระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนาย ประเมิน และบรรเทาผลกระทบทางชีวกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีต่อข้อเสนอการพัฒนาใด ๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ลงมือดำเนินได้” วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อให้เป็นการประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ
ข้อดีของ EIA คือ ช่วยหาทางป้องกันผลกระทบในทางลบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนั้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของนักบริหารหรือผู้ประกอบการว่าสมควรดำเนินโครงการนั้นต่อหรือไม่ การทำ EIA จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการวางแผนป้องกันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมของโครงการและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดำเนินโครงการไปแล้ว โดยในรายงาน EIA จะมีการกำหนดมาตรการป้องกัน และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบเป็นหัวข้อหลักที่สำคัญของรายงานอีกด้วย
EIA ศึกษาและวิเคราะห์เรื่องอะไรบ้าง
การจัดทำ EIA ประกอบด้วย การศึกษาครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน คือ
1.ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมี การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
2.ทรัพยากรชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น
3.คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน
4.คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม
โดยที่ผ่านมาทั้งทางผู้ประกอบการและทาง EIA โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) นั้น ต่างยังมีความไม่เข้าใจกัน ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างเปรยกันมาตลอดว่าการพิจารณาEIA ของคณะกรรมการ สผ.แต่ละท่านมีมาตรฐานในการพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้การประกาศผลการพิจารณาล่าช้า ขณะที่คณะกรรมการสผ.เอง ก็ประกาศชัดเจนว่า มีการพิจารณาตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่ได้มาตรฐานทุกท่าน จึงต้องเป็นที่มาของการถกปัญหากันอีกครั้ง ในงานเสวนาวิชการ "ทิศทาง EIA กทม. 2024"
หวังร่วมบูรณการเพื่อประโยชน์แก่สังคม
โดยแพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในฐานะองค์ปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนาวิชาการ "ทิศทาง EIA กทม. 2024" ซึ่งจัดโดยกทม.และ สมาคมอาคารชุดไทย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ เปิดเผยว่า ในนามของกทม. รู้สึกขอบคุณทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่มาร่วมระดมความคิดเห็นในงานเสวนาดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า กทม. เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศในทุกด้าน มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากถึง 10 ล้านคน แต่มีพื้นที่เพียง 1,568.7 ตารางกิโลเมตร และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นหลายสาย ส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ อย่างรวดเร็ว และเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายของกทม.ในการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว โดยจะต้องบริหารจัดการเมืองให้สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ซึ่งการจัดงานเสวนาวิชาการ "ทิศทาง EIA กทม. 2024" จึงเป็นโอกาส ที่ดีของ กทม.ในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุกจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ และปรับปรุงพัฒนางานด้านการประเมินและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการด้านอาคารๆในพื้นที่ กทม.ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนได้ใช้โอกาสดังกล่าวสร้างความเข้าใจร่วมกัน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ในบทบาทของตนอย่างเต็มที่ และประการสำคัญ คือ การร่วมกันเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของสังคม
ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากการพัฒนางาน การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อไป
พ้อ!มาตรฐานการพิจารณายังต่างกัน แนะแนวทางเชิงโครงสร้าง-ปฏิบัติการ
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยในงานเสวนา ภายใต้หัวข้อ “จาก Painpoint สู่ Solition ที่ดีกว่า” ว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) เปรียบเสมือนกระสุนตก แต่พื้นที่ที่ระเบิดลงคือผู้ประกอบการ ซึ่งตนดำเนินธุรกิจอสังหาฯมา 30 กว่าปี พัฒนามาแล้วระดับพันโครงการ ซึ่งประสบปัญหาด้านการจัดทำรายงาน EIA มาหมดแล้วทุกรูปแบบ มากถึง 10 รอบ โดยในเรื่องโครงสร้างนั้น จุดอ่อนในการใช้คณะกรรมการในการพิจารณามาตรฐาน คือในเรื่องการใช้ดุลยพินิจ ในอดีต หากประธาน คชก.ท่านใดที่แข็งๆ จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะจะไม่ให้ใครมาคอมเมนต์ แต่ปัจจุบันโครงสร้างคชก.เป็นสิ่งที่ต้องเคารถตามกฎหมาย แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าในแต่ละพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชุมชนและผู้อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในมิติใหม่ๆจะมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเห็นด้วยในการเรื่องการกระจายอำนาจสู่ชุมชน และมองว่าทีมงานของกทม.มีความพร้อมแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง จึงมีข้อเสนอแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ปัญหาเชิงโครงสร้าง
1.DEVELOP CODE OF CONDUCT
1.1.ด้านโครงสร้างและมาตรฐาน ควรมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ควรเปลี่ยนแปลงข้อพิจารณาเป็นครั้งคราวตามความเห็นแต่ละชุดของ คชก. แต่ละชุด แต่ละท่าน และมีหลักเกณฑ์ชัดเจนสำหรับการมีความเห็นเพิ่มเติมในระหว่างการประชุมแต่ละครั้งเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติตาม
1.1.1 > 10,000 sqm. FULL CODE OF CONDUCT
1.1.2 <10,000 sqm. เป็น MINI CODE OF CONDUCT เพื่อลดภาระงานของคชก.
1.2.ด้านระยะเวลา กำหนดกรอบระยะเวลากระบวนการแต่ละขั้นตอนของการพิจารณา รวมถึงขั้นตอนการมีส่วน ร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ว่ามีขั้นตอนปลีกย่อยใดบ้าง แต่ละขั้นตอนใช้เวลาพิจารณาหรือดำเป็นการเท่าใด ต้องเว้นระยะห่างกี่วัน เจ้าของที่ดินสามารถดำเนินการใดได้หรือไม่ได้ในช่วงเวลาใด
2.EIA CATEGORY
2.1.สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ
2.2.ธรณีวิทยา ทรัพยากรดิน และ ทรัพยากรน้ำ
2.3. ทรัพยากรชีวภาพ บนบก และ ในน้ำ
2.4. การใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย และ การป้องกันน้ำท่วม
2.5. การจัดการขยะมูลฝอย
2.6 การใช้พลังงานและไฟฟ้า
2.7. เสียง ความสั่นสะเทือน และคุณภาพอากาศ
2.8.การจราจร
2.9.การใช้ประโยชน์ที่ดิน
2.10.การป้องกันอัคคีภัย และภัยธรรมชาติ
2.11.สังคม และ เศรษฐกิจ
2.12.การมีส่วนร่วมของประชาชน
2.13.สุนทรียภาพ ทัศนียภาพ
2.14 ผลกระทบการบดบังแดดและทิศทางลม
3.ในกรณีที่กฎระเบียบมีข้อขัดแย้งกัน ควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณา ว่าหลักเกณฑ์ตามข้อใดเหนือกว่าหลักเกณฑ์ใด อาทิ
3.1.ในระหว่างการจัดทำ EIA มีการขออนุญาตก่อสร้างสำนักงานขายจากหน่วยงานอนุญาต สามารถก่อสร้างได้ ตาม พรบ.ควบคุมอาคารแล้วแต่ตามข้อการพิจารณา EIA ไม่สามารถก่อสร้างสำนักงานขายในช่วงการจัดทำ EIA ได้
3.2.ที่จอดรถกระเช้าดับเพลิง ขนาด 8x16 เมตร ไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายควบคุมอาคาร แต่หลักเกณฑ์พิจารณา EIA บังคับให้ต้องจัดเตรียม ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์การจัดพื้นที่ที่ชัดเจน
3.3.ที่จอดรถ EV ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ให้สามารถนับรวมกับที่จอดรถที่ต้องการตามกฎหมายได้ แต่หลักเกณฑ์พิจารณา EIA ไม่ให้นับรวม
ปัญหาเชิงปฏิบัติการ
1.การประเมินผลกระทบในแต่ละหัวข้อควรมีมาตรการระบุที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานแน่นอน
2.กรรมการผู้พิจารณารายงานที่ได้รับการแต่งตั้งตามความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ควรพิจารณาเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญของตนเองเพื่อประสิทธิผลสูงสุดในประเด็นของด้านนั้นๆ
3.การปรับปรุงแบบสอบถามทางด้านสังคมให้กระชับแต่ครอบคลุม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องผู้อาจได้รับผลกระทบสามารถแสดงความคิดเห็น ผ่านแบบสอบถามได้โดยสะดวกอย่างมีประสิทธิภาพเป็นวงกว้าง เพื่อสร้างความยุติธรรมให้ทั้งชุมชนและผู้ประกอบการด้วย
4.การลดจำนวนเอกสารนำส่งฉบับจริง โดยเพิ่มการนำส่งไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะดวกกับคชก. ในการจัดเก็บ และร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5.การมีระเบียบการชัดเจนกรณีเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ให้ความร่วมมือ เพื่อรักษาสิทธิประชาชนทุกคนโดยเสมอภาคในการใช้ประโยชน์ที่ดินของตนเองตามกฎหมาย ไม่เกิดการรอนสิทธิของประชาชน
6.การพิจารณาให้กำหนดมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพเป็นปัจจุบัน เพื่อสอดคล้องกับสภาพสังคมและ สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
7.เกณฑ์การพิจารณาพื้นที่สีเขียวภายในอาคารนอกเหนือจากพื้นที่ภายนอก เพื่อสอดคล้องกับการดำรงชีวิตจริงในปัจจุบันของประชาชนผู้อาศัยภายในอาคาร
การพิจารณาEIA ของคณะกรรมการชำนาญการถือเป็นที่สุด
นายอนวัช บูรพาชน ผู้แทนสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายนั้น หากต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือต้องจัดทำสถิติ ข้อมูล หรือเหตุผลทางวิชาการใหม่ในเรื่องใด เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ แต่ทั้งนี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการจะต้องแสดงถึงความเหมาะสม ความได้สัดส่วนและความจำเป็นในการใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ ไว้ด้วย และให้ความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในกรณีดังกล่าวเป็นที่สุด
ในกรณีโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาต เป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาต จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียว
EIA ผ่านเร็ว-ช้า ขึ้นอยู่กับคุณภาพของบริษัทที่ปรึกษา
นายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า มองว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.)เป็นเหตุของหลายเรื่อง แม้ว่าโครงการต่างๆที่มีปัญหาในหลายๆพื้นที่ ผู้เสียหายก็จะมาร้องเรียนที่คชก. ทั้งๆที่ไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็รับเรื่องไว้ ซึ่งจริงๆแล้วงานของคชก.เป็นงานที่หนักมาก มีเวลาการพิจารณา 2 รอบ รอบแรกจะพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน เมื่อบริษัทที่ปรึกษาโครงการทำรายงานส่งไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)แล้ว จะมีเวลา 30 วันในการพิจารณา และส่งกลับมาที่กทม.และกทม.ก็มีเวลาในการพิจารณารายบงานรอบแรก 45 วัน ซึ่งกฎหมายระบุบังคับไว้เลยว่า ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ถ้ายืดเยื้อ ชักช้า ดังนั้น 45 วันจะไม่มีมติอะไรเลย เพราะถือว่าเห็นชอบ ดังนั้นคชก.กทม.จึงต้องรีบพิจารณา ซึ่งแต่ละโครงการจะมีรายงานประมาณ 4-5 เล่ม
และหากพิจารณาครบแล้ว 45 วัน แต่ยังมีเหตุต้องแก้ไข ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่ครบถ้วน ก็จะพิจารณาไม่เห็นชอบ ดังนั้นบริษัทที่ปรึกษาและผู้ประกอบการโครงการต้องมีหน้าที่นำรายงานไปปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังจากนั้น คชก.ก็จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าพิจารณาแล้วถูกต้อง ก็เห็นชอบ และนำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างเป็นขั้นตอนต่อไป แต่ถ้ายังแก้ไขไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ ใครครบถ้วน ก็ไม่เห็นชอบ ถือว่าจบกระบวนการ หากผู้ประกอบการยังยืนยันที่จะพัฒนาโครงการดังกล่าวให้ได้ ก็ต้องไปเริ่มดำเนินการใหม่ที่สผ. ซึ่งทั้งหมดคือวิธีการดำเนินงานของ คชก.กทม.ในปัจจุบัน
“ซึ่งเดิมการพิจารณาจะให้แต่ละโครงการเข้ารอบละ 1 ครั้ง รอบ 45 วัน จะมีรอบละ 2 หรือ 3 ครั้ง ถ้าดูแล้วไม่ครบถ้วน ก็จะไม่ให้เข้าเลย แต่ต่อมาเห็นว่า ผู้ประกอบการเดือดร้อน และช้า ถ้าเห็นว่ารายงานฉบับใด ยังมีเวลาเหลืออยู่จาก 45 วัน ก็มีมติให้เลื่อนไปแก้ไขและนำกลับมาเข้าพิจารณาใหม่ เรายอมเหนื่อยประชุมเพิ่ม เพื่อให้โครงการสำเร็จไปโดยเร็ว ขณะเดียวกันหลายโครงการก็ทำรายงานมาดี ซึ่งแล้วแต่คุณภาพของบริษัทที่ปรึกษา และคุณภาพของรายงานว่าเป็นอย่างไร” นายสุรเกียรติ กล่าว
นายสุรเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนในการศึกษา EIA มีขั้นตอนดังนี้ 1.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 180 วัน โดยคชก.กทม.ใช้ระยะเวลาในการพิจารณางานรอบแรก 45 วัน 2. พิจารณาภายใน 30 วัน โดยไปอยู่ที่สผ. 30 วัน ดังเวลาในการในการทำงานของ คชก.มีเวลาเพียง 45+30 วัน เท่านั้น หลายคนมองว่าทำไมจึงพิจารณาช้า ซึ่งต้องชี้แจงว่ามันมีองค์ประกอบหลายอย่างมาก เพราะบางบริษัทที่ปรึกษาที่ทำรายงานดี คชก.จะอ่านด้วยความเข้าใจง่าย มีคุณภาพ แต่บางบริษัทต้องใช้แว่นขยายมาส่องตัวเลขมาก ใช้ระยะเวลานานกว่าจะอ่านรายงานเข้าใจ ดังนั้นโดยสรุป การพิจารณาช้าหรือเร็ว ของ EIA ขึ้นอยู่กับคุณภาพของรายงาน และคุณภาพของรายงานอยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา
“บางรายที่ทำรายงานมาไม่ดีก็ให้คำแนะนำไป บางรายไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะอ่านแล้วมึน อ่านไม่เข้าใจ ก็จะทำให้ช้า บางโครงการพิจารณาถึง 3 รอบจึงจะจบกระบวนการ บางโครงการก็ยังลุ้นอยู่ ถ้าบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานมาดี ซึ่งมีอยู่หลายราย จะทำให้ EIA ผ่านได้เร็ว เพราะคชก.อยากให้ผ่านออกไปให้เร็วที่สุด”นายสุรเกียรติ กล่าว
โดยสาเหตุที่บางโครงการมีความล่าช้า ยังไม่ผ่าน EIA เช่น มีการร้องเรียนมาก เพราะกรุงเทพเป็นเมืองใหญ่มีพื้นที่ซับซ้อน บางพื้นที่คนในชุมชนจะมีความหวงแหนพื้นที่ ไม่ต้องการให้มีโครงการเกิดขึ้นอยู่รอบล้อม คชก.ก็เปิดโอกาสให้เข้ามาชี้แจง ซึ่งจะรับฟังประกอบวิชาการว่าควรจะเชื่อฝ่ายไหนทั้งผู้ร้องเรียนและผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งก็ต้องฟังเหตุผลมาพิจารณา บางรายก็มาร้องเรียนด้วยเจตนาพิเศษ เพื่อให้ คชก. เป็นเครื่องมือ เพื่อเรียกหาผลประโยชน์ ซึ่งคชก.ก็มองเห็นในส่วนนี้ แต่ก็พยายามเป็นตัวกลางเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เคลียร์กัน แต่เมื่อมีการฟ้องร้องผลคดีเป็นอย่างไรก็ต้องนำมาศึกษา ซึ่งการพิจารณาต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ดังนั้นขั้นตอนในการพิจารณาข้อมูลจะยากขึ้น ซึ่งหากกฎหมายเปลี่ยนไป ก็ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลต่อการพิจารณารายงานที่เร็วหรือช้า แต่ขอยืนยันว่า คชก. มีความสุจริตในการพิจารณาให้เร็วขึ้นทุกท่าน เพื่อเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ
ยันการพิจารณามีมาตรฐานเดียวกัน แนะผู้ประกอบการพัฒนาโครงการให้เกิดความเชื่อมั่น
นายสัญญา สืบสิงห์ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กล่าวว่า เรื่องของ EIA มีมาตั้งแต่ปี 2524 และจริงจังตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา หากถามว่าในเวทีวันนี้ว่าต้องดำเนินการทำไม ดำเนินการเพื่ออะไร จะพัฒนาระบบอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งเลยคำว่าคุณภาพและประสิทธิภาพไปแล้ว แต่ทำอย่างไรจะพัฒนาระบบให้เกิดความเชื่อมั่น โดยผู้ที่อยู่ในแวดวงเกี่ยวข้องกับ EIA ซึ่งมองว่าเจ้าของโครงการรับได้หมด แต่ขอสั้นๆและกระชับ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก และดำเนินการโครงการให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ว่าพัฒนาโครงการอย่างไรแล้วไม่ให้เกิดปัญหา มาตรฐานของสผ.คือเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สผ.จะพิจารณาเองตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่ ณ วันนี้มีการพัฒนาโครงการที่มากขึ้น บริบทจึงแตกต่างกันไป ดังนั้นแนวคิดตั้งคณะกรรมการทำงานจึงเกิดขึ้น 11+1 คือ 11 จังหวัด + กทม. รวมเป็น 12 ดังนั้นมาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สผ.ให้ความสำคัญมาก
ปัจจุบันพอมีหลายคณะกรรมการ จึงมีหลายแนวทางในการพิจารณาเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานในมุมกว้าง ทุกคนสามารถหยิบยกนำไปใช้ได้ โดยประโยชน์ของ EIA นั้นคือ เจ้าของโครงการจะสามารถทราบได้ว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง เมื่อไปพัฒนาโครงการในทำเลนั้นๆ ,จะมีมาตรการอะไรเกิดขึ้นบ้าง,ทิศทางการการลงทุนจะเป็นเช่นไร ฯลฯ ขณะเดียวกันในมุมของหน่วยงานอนุญาต ต้องมีมาตรฐานเดียวกันตามกระบวนการ ส่วนภาคประชาชน ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตามช่องทางออนไลน์ได้ เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผย
ส่วนหลักเกณฑ์ต่างๆในการทำ EIA นั้นมีมาประมาณ 30 ปีแล้ว เชื่อว่าซึ่งผู้ประกอบการทราบดีว่าต้องทำอย่างไร แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่ผู้ประกอบการไม่ทราบ ดังนั้นบริษัทฯที่ปรึกษาจะต้องให้คำแนะนำ แต่ถ้าหากรับทราบอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ก็จะทำให้ง่ายต่อการลงทุนมากในการติดตามตรวจสอบ เพราะทุกโครงการอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เช่น เรื่องพื้นที่สีเขียว,ระบบบ่อน้ำเสีย,การจัดการขยะ เป็นต้น ซึ่งฝากไว้ว่าในการพัฒนาโครงการต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้