news-details
Business

“ซีอีโอแมน-เกษมสันต์ สุจิวโรดม” ผู้สืบทอดธุรกิจ “KJL” ให้ไปอยู่ทุกที่ที่มีไฟฟ้า

เป็นที่ทราบดีว่า การดำเนินธุรกิจของครอบครัวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จนหลาย ๆ คนต้องขอเวลา “คุณพ่อ-คุณแม่” ออกไปฝึกวิทยายุทธ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้ตนแข็งแกร่งก่อนกลับมาช่วยงานทางบ้าน แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีแนวคิดจะกลับมาช่วยครอบครัวสานต่อธุรกิจและช่วยแบ่งเบาภาระ “คุณพ่อ-คุณแม่” ให้ได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง หลังจากทำงานมาอย่างหนักหลายสิบปี

“เกษมสันต์ สุจิวโรดม” ถือเป็น CEO รุ่นใหม่อีกหนึ่งคน ที่ขีดเส้นทางชีวิตเพื่อเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวโดยตรง ถึงแม้ว่าในช่วงสมัยเรียนได้สอบติดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมีอนาคตเป็นนายแพทย์หนุ่มไฟแรง แต่จนแล้วจนรอดก็ตัดสินใจสละสิทธิ์โยกย้ายไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าตรงกับสไตล์ของตน และอยากกลับไปช่วยครอบครัวลุยธุรกิจให้เติบโต

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่น แถมยังสามารถปั้น “บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL” ผู้นำด้านนวัตกรรมการผลิตตู้ไฟ รางไฟ และงานโลหะแผ่นแปรรูป ที่มีกําลังการผลิตสินค้าสูงสุดในประเทศไทย เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้สำเร็จ ที่สำคัญธุรกิจยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่น่าจับตามองขอคนในวงการนักลงทุน ดังนั้น ทีมข่าว “FULL MAX” จึงไม่รอช้าที่จะนำพาทุกท่านไปรู้จักตัวตน “ซีอีโอแมน - เกษมสันต์ สุจิวโรดม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) รวมถึงแง่มุมการสืบทอดธุรกิจและการทำงานต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

????ประวัติการศึกษา

เดิมสอบติดคณะแพทยศาสตร์ แต่เปลี่ยนใจมาวิศวะไฟฟ้า ด้วยเพราะคลุกคลีกับธุรกิจของครอบครับมาตั้งแต่เด็ก ช่วย “ปาป๊า-มาม๊า” แพ็คของ จัดส่งของ เวลามีงานทำบุญก็มาช่วยที่บริษัทฯ และเห็นว่าเป็นธุรกิจของที่บ้าน น่าจะเข้ามาสานต่อและสร้างกิจการที่บ้านให้เติบโตขึ้นได้ จึงตัดสินใจสละสิทธิ์การเป็นคุณหมอ (ยิ้ม) ทั้งนี้ หลังเรียนจบมาก็ไปฝึกงานที่บริษัทอื่นอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาช่วยงานที่บริษัทฯ แต่ถึงแม้จะเป็นลูกเจ้าของกิจการ ก็ไม่ได้เข้ามาในตำแหน่งใหญ่โตอะไร เริ่มต้นจากการทำงานที่ฝ่ายผลิต เพื่อเรียนรู้งาน ก่อนจะย้ายไปทำในฝ่ายอื่น ๆ ทั้งด้านบัญชี การตลาด และฝ่ายขาย ซึ่งอาจจะเป็นความตั้งใจของปาป๊า-มาม๊า ที่อยากให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานของทุกฝ่าย ก่อนจะปล่อยให้เรามานั่งบริหาร ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมีประสบการณ์ในบริษัทฯ มากว่า 10 ปีแล้ว

“การเรียนด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ช่วยในเรื่องการทำงานได้เยอะพอสมควร โดยเฉพาะในแง่หลักคิด การวิเคราะห์ ทำให้สามารถคิดได้เป็นระบบ มีหลักการ มีที่มาที่ไป ที่สำคัญสามารถโน้มน้าวทีมงาน และผู้ใหญ่ได้ด้วย (ยิ้ม) และสามารถนำมาเป็นปรัชญาในการทำงาน เพราะการทำธุรกิจ ข้อดีสำคัญสุด คือเรื่องข้อมูล หรือ Data เพราะสามารถช่วยในเรื่องการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ ซึ่งผมเรียกว่า Fact หรือกลุ่มของข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้ถูกจัดการ จัดกลุ่ม หรือถูกตีความ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจมีความหมายในตัวเอง งานเยอะ คือ เยอะเท่าไหร่ ยอดขายเยอะ คือ ยอดขายเท่าไหร่ กำลังผลิตเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะตัวเลขมันไม่โกหกใคร มันช่วยในการตัดสินใจได้เยอะมาก ผมว่า Data ช่วยได้เยอะมาก และยังช่วยโน้มน้าวผู้ใหญ่ให้คล้อยตามได้ด้วย” ซีอีโอแมน พูดจบพร้อมด้วยรอยยิ้ม

????งานอดิเรกที่ชอบ

การตีกอล์ฟ คืองานอดิเรกที่ชอบ เพราะเป็นการพักผ่อนที่ทำให้เรามีสมาธิ ทั้งนี้ การเล่นกีฬากอล์ฟสามารถผสมผสานเข้ากับเรื่องงานได้ เพราะบางทีจะออกรอบกับลูกค้าบ้าง ซัพพลายเออร์บ้าง อีกอย่างการตีกอล์ฟก็ช่วยได้เยอะ ต้องมองชอร์ตต่อไป อย่าทำพลาด ทำให้เรารู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเอง ทำให้ใจเย็นขึ้น อะไรที่ควบคุมไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป คิดอะไรแบบ Shot by Shot หรือ Step by Step

ส่วนเวลาขับรถ ก็ชอบฟังพอดแคสต์ ด้านการลงทุน เพิ่มความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในธุรกิจ ชอบคอนเทนต์สัมภาษณ์ผู้บริหาร ฟังวิธีคิดของแต่ละคนในการเล่าเรื่องธุรกิจต่าง ๆ ทำให้เราได้เห็น Behind-the-Scene ว่าหลังฉากเขาคิดอะไรอยู่ เขาตัดสินใจเรื่องนี้เพราะอะไร เราไม่ได้ฟังว่าเขาทำอะไร แต่เขาทำเพราะอะไร ทำไมถึงต้องทำ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา



????ความท้าทายในการทำงาน

เป็นคนชอบแก้ปัญหาอยู่แล้ว เป็นคนที่แก้อะไร ก็ต้องแก้ให้ขาด แก้ให้ถึงรากของปัญหา แต่ก็ต้องมองภาพใหญ่ด้วย แล้วก็เป็นคนชอบ ลองคิด ลองทำ และดูผลตอบรับ และคำวิจารณ์ มันก็คือความท้าทาย แต่ถามมองในแง่บวก มันก็คือการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทุกอย่างมันมีช่องว่างในการพัฒนา Room Improve ไม่ว่าจะเล็กจะน้อย กล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ ยอมรับว่า การเป็นคนหนุ่มด้วยวัย 30 ปีเศษ อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างในเรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่าคนในยุคเก่า แต่ทุกการตัดสินใจมักถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data ทำให้โอกาสผิดพลาดน้อยลง และอีกอย่างการตัดสินใจเร็วมันก็ดีสำหรับยุคสมัยนี้ด้วย เพราะตัดสินใจเร็วดีกว่าไม่ลงมือทำอะไร และลึก ๆ ในใจยังคิดว่าทำช้าไม่ทันใจตัวเองเท่าไหร่ (หัวเราะ) เพราะโลกทุกวันนี้มันไปเร็วมาก

"เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องทำการวิจัย หรือรีเสิร์ชตลาด ไม่ต้องทดลอง ไม่ต้องมาประเมินผล มันช้าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ คือ ออกผลิตภัณฑ์จริงมาเลย แล้วไปวัดกันหน้างาน แต่การลงทุนไม่ต้องเยอะมาก ถ้ามันไม่สำเร็จก็ OK แต่ถ้าสำเร็จมันจะ BIG WIN เวลาพลาดก็พลาดให้น้อยที่สุด แต่เวลาชนะ ก็ชนะให้มันเยอะๆ เหมือนเวลาทำธุรกิจ ล้ม 10 ครั้ง ไม่เป็นไร แต่ถ้าชนะ 1 ครั้งก็ยิ่งใหญ่ไปเลย แต่ตอนล้มก็อย่าเจ๊งก่อนแล้วกัน" นายเกษมสันต์ พูดจบพร้อมหัวเราะอย่างเป็นกันเอง

????ความแตกต่างระหว่างรุ่นเก่า-ใหม่

ในความที่เป็นคนรุ่นใหม่ การทำงานให้คนรุ่นเก่ายอมรับในฝีมือ ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ที่สำคัญ คือ ต้องพิสูจน์ตัวเราเอง ด้วยการลงมือทำจริง แต่มันอาจยากที่การเริ่มต้น ต้องเริ่มจากโปรเจกต์เล็ก ๆ โน้มน้าวเรื่องเล็ก ๆ ก่อน สั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ทำให้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใหญ่เชื่อใจว่า เราทำได้ แต่มันก็อาจจะล้มเหลวบ้าง ซึ่งนั่นก็ขึ้นกับเราว่า ปรับเปลี่ยนวิธีอย่างไร เพื่อให้งานออกมาสำเร็จ

“เรื่องโน้มน้าวใจ “ปาป๊า-มาม๊า” ที่ผมใช้บ่อย ๆ ก็คือการให้ที่ปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยโน้มน้าว แต่ไม่ใช่ว่า เราคิดมาไม่ดีนะ เราก็คิดมาดีแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยได้ เพราะเรื่องคนในครอบครัว บางทีคุยกันเองมันยังไม่ถึงแก่น คุยได้แค่นิดเดียวก็อาจจะไม่คุยต่อแล้ว คือมันจะมีเรื่องความอดทนในการฟังน้อยกว่า แต่พอมีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยพูดคุย มันก็จะเกิดความเกรงใจ ซึ่งหลาย ๆ บ้านอาจจะเป็นในวงสนทนา หรือในที่ประชุม เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามามันจะเกิดความอดทนในการฟังมากขึ้น ซึ่งการอดทนในการฟังนั้นจะช่วยให้เรื่องราวการสนทนาเข้าถึงแก่นสาร หรือสาระสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อสาร นี่ถือเป็นแทคติกอย่างหนึ่งที่ได้แชร์ประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ หลายคน นำไปใช้”

????ใช้ชีวิตช่วงวัยหนุ่มคุ้มหรือยัง?

เมื่อถูกถามว่า ต้องมานั่งบริหารงานตั้งแต่หลังเรียนจบ คิดว่าได้ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มคุ้มหรือยัง “ซีอีโอแมน” บอกว่า มันขึ้นอยู่กับนิยามการใช้ชีวิตของแต่ละคนว่าเป็นยังไง ส่วนผมก็เดินทางท่องเที่ยวกับลูกค้า ก็ถือเป็น Work-life Balance ปีหนึ่งก็พาลูกค้าไปท่องเที่ยวหลายรอบ อาจจะไม่ได้ชอบแต่แรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันก็ทำให้เราชอบได้ ซึ่งจะมีวิธีปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการลองโน่น ลองนี่ ถือเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานได้



????การบริหารงานหลังเข้าตลาด mai

หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาด mai เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2665 ที่ผ่านมา KJL มีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง เพราะหลังจากระดมทุนก็นำเงินมาลงทุนซื้อเครื่องจักรขยายกำลังการผลิต ซึ่งก่อนระดมทุนเรามีกำลังการผลิตสินค้าได้ประมาณ 20 ล้านชิ้น ซึ่งเป้าหมายเราจะเป็น 30 ล้านชิ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยไตรมาสแรกเราสามารถผลิตได้ 22 ล้านชิ้น และในไตรมาส 2 ขยับมาเป็น 25 ล้านชิ้น และคาดว่าจะเป็น 30 ล้านชิ้นภายในสิ้นปีตามแผน ล่าสุด ข้อมูล เดือนกรกฎาคม 2566 เรามีกำลังผลิตขยับขึ้นมาเป็น 27 ล้านชิ้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้ตามเป้าหมาย

ส่วนเรื่องศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) ตอนนี้ลงเสาเข็มแล้ว คาดว่าปี 2568 จะเปิดใช้งานตามแผน ทั้งนี้ ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า กำลังการผลิตของ KJL จะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 15-20% รวมถึงการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าที่จะเข้ามาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้สินค้าของ KJL เติบโตไปพร้อมกับความต้องในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง KJL กับผู้ประกอบการ พันธมิตร ตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมออกแบบ การดีไซน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในมิติต่าง ๆ ไปด้วยกันและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่รับเทรนด์โลกในอนาคต นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ KJL เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืน

“จุดเด่นของเรา คือ การทำงานโลหะ หมายถึงสินค้าเราเป็นตลาดกลุ่มไฟฟ้าก็จริง พื้นฐานการผลิตมันเป็นงานโลหะ งานเหล็ก และจุดเด่นของเราคือ ไม่มีขั้นต่ำ ชิ้นเดียวก็ทำได้ ซึ่งเรามีลักษณะพิเศษเฉพาะ (Unique) ที่ผู้ผลิตแบบนี้มันน้อยมาก ไม่มีโรงงานที่เปิดรับออเดอร์แบบนี้ เราก็หยิบตรงนี้มาต่อยอด คือ ทำยังไงให้เกิด Value Add แล้วก็ไม่อยากไปแข่งราคา สู้แข่งขันเรื่องการตอบสนองทางคุณค่าแก่ลูกค้าดีกว่า ทั้งนี้ ศูนย์อิโนเวชันฯ ก็ถือเป็น Blue Ocean หรือธุรกิจที่เน้นการแข่งขันในด้านความต้องการส่วนหนึ่งในตลาดเดิม แต่คิดว่าถ้าในตลาดใหม่ถือว่าเป็น Everything ที่ใหญ่มาก ของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาเพิ่มเติม มันไปได้ถึงเครื่องมือทางการแพทย์ งานสถาปัตยกกรรม งานเฟอร์นิเจอร์ งานดีไซด์ มันไม่จำกัด และมันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง ทำไปเรื่อย ๆ มันเกิดกระบวนการพัฒนา ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ ๆ ในอนาคต”



????ออกผลิตภัณฑ์ใหม่

ล่าสุด KJL ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับงานไฟฟ้า ซึ่งแตกไลน์จากเดิมที่ผลิตเป็นโลหะ โดยจะเป็นตู้พลาสติกกันน้ำ “KJL Plas series” 2 รุ่น 20 แบบ มาตรฐานระดับโลก ผลิตจากพลาสติก ABS 100% ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น จุดเด่นคือ ไม่ลามไฟ ที่สำคัญคือ “สั่งด่วนได้เร็ว สั่งเช้าได้บ่าย” ตามความถนัดของ KJL ที่คู่แข่งไม่สามารถทำได้ สำหรับการผลิตโปรดักซ์ใหม่ตัวนี้ขึ้นมา ก็เพราะแบรนด์ของ KJL มีความแข็งแรง ฐานลูกค้าเราแข็งแรง เน็ตเวิร์คเรากว้าง แค่นำสินค้าใหม่เข้าไป เขาก็พร้อมที่จะเปิดรับ เป็นจะเป็นที่นิยมในที่สุด

????ผลประกอบการปี 2566

ด้านผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรก 2566 มีรายได้ 527.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.28% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไร 73.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.37% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รายได้และกำไรที่เติบโตขึ้นก็มาจากการขยายกำลังการผลิต บวกกับยอดขายที่มากขึ้น ตรงนี้ทำให้คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ อนุมัติจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.15 บาท/หุ้น โดยจะจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้

“ถ้าดูทั้งด้านผลการดำเนินงาน และการจ่ายปันผลแล้ว คาแรกเตอร์ของหุ้น KJL จึงเป็นทั้ง Growth Stock และ Dividend Stock ในตัวเดียวกัน ส่วนผลงานทั้งปีน่าจะโตประมาณ 10-15% ตามที่เคยให้ข้อมูลไว้กับนักลงทุนตั้งแต่ตอนเข้าจดทะเบียนในตลาด mai และคิดว่าน่าจะทำได้ตามที่บอกไว้” ซีอีโอ KJL พูดจบพร้อมรอยยิ้มอย่างมั่นใจ



????แผนดำเนินธุรกิจระยะยาว

ส่วนแผนระยะยาว 5 ปีนั้น KJL มีเป้าหมายจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% และคิดว่าเป็นเป้าหมายที่มั่นใจว่าจะทำได้ และคิดว่าจะมีรายได้เติบโตในระดับ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีแผนจะย้ายหุ้นจากกระดาน mai ไปเข้า SET ในช่วง 5 ปีนี้ด้วย ซึ่งเงื่อนไขหลักต้องมีทุนจดทะเบียน 300 ล้าน ปัจจุบันเรามีทุนจดทะเบียน 116 ล้านบาท พูดตอนนี้มันอาจจะเร็วไป เพราะเพิ่งจะผ่านมาได้แค่ 8-9 เดือนหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ รออีก 5 ปีจะพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้หรือไม่ เพราะในช่วงแค่ 8-9 เดือนที่ผ่านมา ก็พอจะพิสูจน์ให้เห็นได้ระดับหนึ่งแล้วว่าเราเป็นยังไง

ก่อนบทสนทนาจะจบลงเราถามถึงความฝันที่อยากเห็นการเติบโตอย่างยั่งยืนของ KJL ซีอีโอหนุ่มไฟแรง กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้ KJL เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ทำสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้า ที่สำคัญมีบริบท เรื่อง Better Together คือ "การเติบโตไปด้วยกัน" ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งซัพพายเออร์ พาร์ทเนอร์ ผู้ถือหุ้น ซึ่งผมว่ามันยั่งยืนกว่า และดีสำหรับทุกคน”

ข้อมูลบริษัท KJL เพิ่มเติม: www.KJL.co.th

You can share this post!