พานาโซนิค ร่วมมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกระดับงานวิจัย “การทดลองระบบ Home IoT เพื่อทดสอบ “สภาวะน่าสบายและการประหยัดพลังงาน” ในโครงการที่อยู่อาศัย” ผนึก 3 ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ ร่วมสร้างนวัตกรรมที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน ทดลองติดตั้งระบบ Home IoT ในบ้านตัวอย่างเพื่อค้นหาสภาวะอยู่สบายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับคนไทย ด้านรัฐบาลไทยโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน-ภาครัฐญี่ปุ่นโดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแสดงเจตจำนงสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลนำไปสู่ต้นแบบการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานในประเทศไทยในอนาคต
พานาโซนิคพัฒนาโซลูชั่นส์ Home IoT เร่งวิจัยค้นหาสภาวะน่าสบาย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
มร. มาซาอาคิ อิโซะดะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท พานาโซนิค อีเล็คทริค เวิร์คส์ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ "Panasonic GREEN IMPACT" ซึ่งเป็นภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมแบบระยะยาวของพานาโซนิคทั่วโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน พานาโซนิคจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่ายด้วยการสร้างโซลูชั่นส์ใหม่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ของพานาโซนิคที่มีอยู่แล้ว ให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในที่อยู่อาศัย โดยโซลูชั่นส์แรกที่พานาโซนิคคิดค้นเพื่อมาตอบโจทย์แนวคิดข้างต้น ด้วยการให้เทคโนโลยีอย่าง Home IoT และ algorithm มาช่วยควบคุม โดยคาดหวังว่าผลของการวิจัยจะทำให้สามารถค้นพบ “สภาวะน่าสบายภายในบ้าน” สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยในอนาคตที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทย
มร. ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พานาโซนิค ได้พยายามคิดค้นโซลูชั่นส์เพื่อมาตอบโจทย์แนวคิดด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เราได้มองเห็นความสำคัญของบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเราเชื่อว่า “เมื่อบ้านได้มอบความสบายกายและใจให้กับผู้อยู่อาศัย ก็จะเป็นการช่วยลดการสร้างภาระให้กับโลก เกิดเป็นการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดโครงการวิจัยเกี่ยวกับสภาวะน่าสบายของคนไทยร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคิดค้นระบบที่สร้างความน่าสบาย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้
โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2565 โดยมีการสร้างโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง Zen Model ขึ้นที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบาย และทำการเก็บข้อมูล ก่อนจะนำไปสู่การทดลองกับบ้านจริงหลังแรกภายในบ้านตัวอย่างของโครงการเสนา แกรนด์โฮม บางนา กม. 29 โดยร่วมกับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA และ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา
ในปีนี้ พานาโซนิคจะเร่งเดินหน้าพิสูจน์การทำงานของระบบว่าสามารถเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการลดการใช้พลังงานภายในบ้าน โดยจะมีการทดสอบระบบในที่อยู่อาศัยจริง จำนวน 12 หลัง จากผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ 3 ราย ได้แก่ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA และ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ NCH รวมถึง บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด ที่เป็นลูกค้าที่สำคัญกับพานาโซนิคมาอย่างยาวนาน ซึ่งแต่ละหลังมีการออกแบบอาคารที่โดดเด่นเฉพาะตัว ในบริบทที่ต่างกันไป นับเป็นโจทย์ที่น่าสนใจเพื่อใช้ในการทดสอบ พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก สำนักส่งเสริมโครงการระหว่างประเทศ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อช่วยผลักดันการศึกษาวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว รวมถึงความร่วมมือจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ของประเทศไทย ในการสนับสนุนด้านข้อมูลพร้อมทั้งเตรียมผลักดันแนวคิดดังกล่าวนี้สู่นโยบายบ้านประหยัดพลังงานในอนาคต
ภาครัฐไทยและญี่ปุ่น ร่วมแสดงเจตจำนงสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
มร.ทาคาชิ นารุเสะ ผู้อำนวยการบริหาร สำนักส่งเสริมโครงการระหว่างประเทศ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า NEDO เป็นหนึ่งในองค์กรบริหารจัดการวิจัยและพัฒนาของรัฐที่ใหญ่ที่สุดภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) โดยมีพันธกิจหลักคือการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านพลังงาน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีเป้าหมายเพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในทางปฏิบัติและเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคม โดยการร่วมมือหลายประเทศ อาทิ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN), จีน, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา, และสหภาพยุโรป สำหรับประเทศไทย NEDO ได้มีความร่วมมือกับภาครัฐบาลทั้ง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น เพื่อดำเนินโครงการสาธิตหลายโครงการในด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทางเลือก การลดคาร์บอน การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรม
สำหรับการดำเนินโครงการทดลองระบบ Home IoT เพื่อทดสอบ “สภาวะน่าสบายและการประหยัดพลังงาน” ในโครงการที่อยู่อาศัย ที่ดำเนินการโดย บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น นับเป็นโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การลดใช้พลังงานในภาคที่อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต NEDO จึงได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณเพื่อช่วยเร่งการทดสอบประสิทธิภาพและยืนยันความสำเร็จของระบบได้เร็วยิ่งขึ้น และผลักดันให้การอยู่อาศัยในสังคมไทยให้มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (NET ZERO society) ได้รวดเร็วมากขึ้น
ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนเชิงความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญ เนื่องจากเป็นโครงการสาธิตเรื่องการอนุรักษ์พลังงานในภาคครัวเรือนในประเทศไทย โดยเน้นไปที่ระบบเครื่องปรับอากาศเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่กินไฟมาก ด้วยการนำใช้เทคโนโลยี IoT มาควบคุมช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ พร้อมกับการออกแบบพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยยังคงรักษาและสร้างสภาวะน่าสบาย หรือ Comfort Environment ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้พักอาศัย สถานที่ตั้ง และรูปแบบของบ้าน โดยทางกรม ฯ จะช่วยให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่นและอำนวยความสะดวกต่างๆ และนำผลที่ได้จากโครงการไปขยายผลต่อรวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมที่เกี่ยวข้องต่อไป
“โครงการสาธิตนี้เปรียบเสมือนการสร้างโชว์รูม ซึ่งหากสามารถขยายผลเทคโนโลยีที่โชว์อยู่ในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับประเทศไทยและญี่ปุ่น และถือว่าเป็นโครงการที่มาถูกที่ถูกเวลา ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งตอนนี้ค่าไฟมีราคาสูงขึ้นมาก และสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2022 ของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการใช้ IoT มาช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือนมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมด้านพลังงานมาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย เพื่อร่วมกันสร้างสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ตามกระแสโลกในปัจจุบัน”นายวัฒนพงษ์ กล่าว
จุฬาฯ ใช้ระบบ BIM ผนึก Home IoT ค้นหาพบสภาวะน่าสบายและประหยัดไฟเกิดขึ้นได้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้เริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่าการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส อาจไม่ใช่วิธีการประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด และไม่ใช่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทย จึงทำการทดลองหาค่า Predicted Mean Vote (PMV) หรือสภาวะน่าสบายของคนไทย มาตั้งแต่ปี 2022 ผ่านโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง ZEN Model ที่มีการเขียนแบบบ้านโดยใช้ระบบ BIM (Building Information Modeling) และระบบต่าง ๆ ภายในบ้านถูกควบคุมด้วยระบบดิจิทัล Home IoT (the Internet of Things)
งานออกแบบการทดลองเพื่อหา Predicted Mean Vote (PMV) ในกลุ่มคนไทย ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือกับทีมวิจัยของพานาโซนิค พยายามสรุปขึ้นมา เพื่อนำมาวางเงื่อนไขทดลองในพื้นที่ที่พักอาศัยในระดับต่าง ๆ และพิสูจน์การประหยัดพลังงานในสภาวะน่าสบายจริง จนในปัจจุบันสามารถประมวลผลจากการทดลอง PMV ขั้นต้นได้ว่า สามารถจัดการพื้นที่ภายในบ้านให้ผู้พักอาศัยยังคงรู้สึกสบาย โดยที่ประหยัดค่าไฟได้จริง นอกจากนี้ขั้นตอนการเก็บข้อมูลและจัดการสภาวะภายในที่พักอาศัยด้วยการประยุกต์อุปกรณ์ IoT ผ่าน Platform BIM และ Digital Twin ก็ถือเป็นอีกความพยายามของทีมวิจัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามเงื่อนไขที่สามารถรักษาสภาวะดังกล่าวได้
โดยในการจัดการพื้นที่ภายในบ้านให้ผู้พักอาศัยจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ พัดลม สวิตซ์ และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งทํางานผ่านอุปกรณ์และระบบ Comfort Air and Home IoT ของพานาโซนิค ภายในบ้านพักอาศัยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ขนาดประมาณ 140-180 ตารางเมตร อุปกรณ์ในการทดลองจะถูกติดตั้งตามการออกแบบที่เหมาะสมกับบ้านแบบต่าง ๆ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านซอฟต์แวร์ของพานาโซนิค ซึ่งส่งผลให้อาคารแต่ละหลังอาจมีจํานวน และตําแหน่งของอุปกรณ์แตกต่างกันไป โดยจะทําการทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อสังเกตประสิทธิภาพในแต่ละฤดูของประเทศไทย ซึ่งจะมีการวัดค่าและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประสิทธิภาพการประหยัดงานของระบบ ผ่านการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม เป็นต้น
SENA เผยครึ่งปีหลังเผชิญ 2 เด้ง-ตลาดการเงินเริ่มเปราะบาง-เกิดเทรนด์ใหม่ลูกค้ากู้ผ่านแต่ไม่ซื้อ หวั่นเกิดวิกฤติแล้วตกงาน ผ่อนต่อไม่ไหว
ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวถึง ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลัง คงต้องดูในภาพแม็คโครมากขึ้น จากครึ่งปีแรกที่ตลาดก็ยังไม่ฟื้นตัว และในปีหลังมองว่าตลาดการเงินเริ่มเปราะบางมากขึ้น ผู้ประกอบการทุกบริษัทต้องเฝ้าระวังกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน เพราะสภาวะตลาดในครึ่งปีหลังเหมือนกับเจอ 2 เด้ง คือผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวังเรื่องการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อและตลาดทุนมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการแต่ละราย
ในส่วนของบริษัทเองก็ต้องมีการปรับตัว ทางด้านกระแสเงินสดที่ต้องมีความระวัง และมีความรอบคอบในการลงทุน มากขึ้น โดยจะไม่เสี่ยงลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความชำนาญ โครงการไหนหากมองว่ายอดขายไม่ดีก็จะชะลอการเปิดตัวออกไปและยังไม่ซื้อที่ดินเพิ่ม เพราะที่ดินที่จะพัฒนาโครงการในปีนี้มีรองรับเพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันก็มีความโชคดีที่โครงการส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรชาวญี่ปุ่น จึงลดความเสี่ยงได้มาก
ส่วน การร่วมมือกับ Panasonic และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทดสอบ“สภาวะน่าสบายและการประหยัดพลังงาน” มองว่าจะช่วยให้ ผู้อยู่อาศัยประหยัดพลังงานพลังงานไฟฟ้าได้มากถึงประมาณกว่า 10% ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มากับยุคสมัยของเทคโนโลยีและทำให้เกิดการรักษ์โลกมากขึ้น แต่ทั้งนี้ราคาของที่อยู่อาศัยต้องเป็นราคาที่สามารถกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินผ่านด้วย ซึ่งเหมาะสมกับบ้านระดับราคา 6-7 ล้านบาท และมีความเหมาะสมกับเซกเมนต์บ้านเดี่ยวมากกว่าคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮาส์
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับ“LivNex เช่าออมบ้าน” (Pay like rent, Own like savings) พบว่ามีกระแสตอบรับที่ดี มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการและประมาณ 220 ราย และสามารถโอนบ้านได้แล้วประมาณ 20 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯระดับราคา 1-2 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีการเช็กเครดิตบูโรในทุก 6 เดือนอย่างต่อเนื่อง น่าจะมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่เช่าไประยะหนึ่งแล้วขอยกเลิก เนื่องจากไม่สามารถเช่าต่อได้ไหว บางรายต้องเดินทางไปต่างประเทศตเป็นต้น
“ที่ผ่านมาภาคอสังหาฯประสบปัญหาในเรื่องของลูกค้าที่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่ในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเจอปัญหาลูกค้าที่ผ่านการพิจารณาจากสถาบันการเงิน แต่ไม่ยอมซื้อบ้าน เนื่องจากเกรงว่าเป็นหนี้ในระยะยาว หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้วทำให้ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ที่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน Gen Y ซึ่งทางบริษัทฯ ก็จะต้องให้พนักงานขายปรับตัว ใช้จิตวิทยาในการคุยและให้ความรู้ในการซื้อบ้านและผ่อนระยะยาวกับลูกบ้านเพื่อที่จะสามารถปิดการขายได้“ ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ปัจจุบันบริษัทสต๊อกสินค้าที่สร้างแล้วเสร็จมูลค่าประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าประเภทคอนโดฯประมาณ 60-70% ส่วนที่เหลือจะเป็นโครงการประเภทแนวราบ โดยเป็นสินค้าระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่การตัดสินใจซื้อของลูกค้าก็จะนานขึ้น จากเดิมใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ปัจจุบันใช้ระยะเวลานานถึง 6-7 เดือน
“เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเพื่อค้นหาสภาวะน่าสบายมาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยการให้พานาโซนิคได้ทำการทดสอบระบบในบ้านตัวอย่างของโครงการเสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29 เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นโปรเจกต์ที่ให้คุณค่าต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ตรงกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ “SENA Low Carbon” ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบ Decarbonized Lifestyle ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิต ไม่เพียงแค่พัฒนาที่อยู่อาศัยคุณภาพ แต่ยังพัฒนาสินค้า บริการ และธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกช่วงวัย ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่าย ๆ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้ให้การสนับสนุนบ้านตัวอย่าง โครงการเสนา วิลเลจ บางนา กม. 29 จำนวน 4 หลัง แบ่งออกเป็น บ้านแฝด THANN+ จำนวน 2 หลัง ขนาดประมาณ 35 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 165 ตารางเมตร(ตร.ม.) และบ้านทาวน์โฮม THEE+ จำนวน 2 หลัง ขนาดประมาณ 27 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 140 ตร.ม. สำหรับใช้ในการทดลอง ซึ่งบริษัทฯ หวังว่าจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวคิด SENA Low Carbon ทั้งในด้านประหยัดพลังงาน และความสะดวกสบายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย”
NCH ส่ง “บ้านฟ้ากรีนเนอรี่ NEOLA รังสิต คลอง 2 ราคา 3-7 ล้านบาทร่วมโครงการ”
นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ NCH กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 30 ปี พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด Home Expert Living Care ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าและความสะดวกสบาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ด้วย Innovation นวัตกรรมดีไซน์ เชื่อมโยงเทคโนโลยี มี Product Roadmap คอนเซ็ปต์ NCXT (NC Cross Innovation & Home Technology)ช่วยให้ผู้อยู่อาศัย มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย Smart Eco และ มีสุขภาพที่ดี Smart Care ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี Well Living ดังนั้นการได้ร่วมมือกับ พานาโซนิคในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ในการพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยสู่ความยั่งยืน และประหยัดพลังงานเพื่อคนไทย โดยทางบริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนบ้านตัวอย่างในโครงการ บ้านฟ้ากรีนเนอรี่ NEOLA รังสิต คลอง 2 เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย จำนวน 4 หลัง แบ่งออกเป็น บ้านแฝด Modish จำนวน 2 หลัง ขนาดพื้นที่ 39 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 140 ตารางเมตร ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านเดี่ยว Louis จำนวน 2 หลัง ขนาด 57 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 155 ตารางเมตร ราคา 5-7 ล้านบาท ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ An Environment Designed for Better Living ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม Active Green การเชื่อมโยงสู่ความเป็นบ้านสภาวะน่าสบาย ภายในบ้าน ตรงตามแนวคิด ของการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืน ของเอ็น.ซี
“สถาพร เอสเตท”นำบ้าน 4 หลัง โครงการ “ดิ อิเธอร์นิตี้ กรีนวู้ด รังสิต- วงแหวน”ต่อยอดนวัตกรรมที่อยู่อาศัย
ทางด้าน นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด กล่าวว่า สถาพร เอสเตท เป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความยั่งยืนในทุกกระบวนการทั้งด้านธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน ทีมงานสถาพรทุกคนยึดถือแนวคิดนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในทุกโครงการและทุกทำเล
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทฯ มอบบ้านที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จำนวน 4 หลัง จากโครงการ “ดิ อิเธอร์นิตี้ กรีนวู้ด รังสิต- วงแหวน” (THE ETERNITY GREENWOOD Rangsit - Wongwaen) ที่ได้รับ 4 รางวัล Thailand Energy Award จากกระทรวงพลังงาน โดยเป็นการสนับสนุน บ้านเดี่ยวแบบ Companion จำนวน 1 หลัง ขนาด 53.7 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร ราคา 7 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวแบบ Beloved จำนวน 3 หลัง ขนาด 50.6 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 185 ตารางเมตร ราคา 5 ล้านบาท ให้ Panasonic ได้ทำการวิจัยอย่างอิสระ เพื่อให้ได้แนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยที่ดี ภาวะน่าสบาย และการบริหารจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับประเทศไทย โดยหวังจะสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้ไปพัฒนางานสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และเทคโนโลยี ให้เข้าด้วยกันแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นบ้านที่ยั่งยืนมากขึ้น ในเจนเนอเรชั่นถัด ๆ ไปของสถาพร เอสเตท