news-details
Business

depa ผนึก “คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ” และ “ซียู ดีโฟร์เอส เอ็นเทอร์ไพรส์”เปิดหลักสูตร “Smart Sustainable City for Silver GEN” รับมือเมืองผู้สูงวัยแห่งอนาคต

"ดีป้า"จับมือ "คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ"และ "ซียู ดีโฟร์เอส เอ็นเทอร์ไพรส์" เปิดตัวหลักสูตร Smart Sustainable City for SilverGEN เจาะลึกเทคโนโลยีการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อผู้สูงอายุ พร้อมลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี พร้อมปั้นเมืองผู้สูงอายุแห่งอนาคต สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ สร้างชุมชมผู้ประกอบการ และนักพัฒนาเมืองยุคใหม่ และเวทีเสวนาในหัวข้อ สำรวจฉากทัศน์ใหม่สังคมไทย: ยุคทองสูงวัยหรือวิกฤติแห่งอนาคต

 

ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เปิดเผยว่า  depa พร้อมด้วย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ และ ซียู ดีโฟร์เอส เอ็นเทอร์ไพรส์ เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้และทักษะใหม่สำหรับการวางแผนและการออกแบบเมืองอัจฉริยะเพื่อผู้สูงวัยอย่างยั่งยืนให้กับบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตลอดจนผลักดันให้กำลังคนและบุคลากรแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และสร้างพันธมิตรทางวิชาการที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการสร้างเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Life-long Learning Ecosystem for Smart City Development) และเปิดหลักสูตร “Smart SustainableCity for Silver GEN” เจาะลึกเทคโนโลยีการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อผู้สูงอายุ

“สำหรับความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ถือเป็นการบูรณาการการทำงานของ 3 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับการพัฒนาหลักสูตรหรือการจัดอบรม เพื่อเพิ่มทักษะ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับการบริหารจัดการเมืองรองรับสังคมผู้สูงวัยแก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ อีกทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานรอบด้าน” ดร.ภาสกร กล่าว

 

ผศ. สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งสร้างหลักสูตรสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสร้างผู้นำในด้านเทคโนโลยีการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาเมืองผู้สูงอายุแห่งอนาคต และเพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ และสร้างชุมชมผู้ประกอบการ และนักพัฒนาเมืองยุคใหม่ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยมีคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงร่วมสอนในหลักสูตร เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงการรับรองสังคมผู้สูงวัย จึงได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สำรวจฉากทัศน์ใหม่สังคมไทย: ยุคทองสูงวัยหรือวิกฤติแห่งอนาคต”

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน Universal Design Excellent Center คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ depa ,รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี และ นายพงษ์วุฒิ แสงประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย กลุ่มธุรกิจ ลูกค้าองค์กร บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์(ประเทศไทย) จำกัด ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในแนวทางการบริหารจัดการ และนโยบายที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของสังคมไทยในยุคที่ประชากรสูงวัยกำลังเป็นส่วนสำคัญ

 

รศ. ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน Universal Design Excellent center คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร Smart Sustainable City for Silver GEN เจาะลึกเทคโนโลยีการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า ผู้สูงอายุกำลังจะยึดเมือง การปรับตัวของเมืองไทยต่อการเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แล้วในปี พ.ศ. 2565(ประชากรไทยกว่า 20% มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) และประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี พ.ศ.2576(ประชากรไทยกว่า 28% จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ไม่ใช่แค่ตัวเลขสถิติ แต่เป็นความจริงที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ปัจจุบันเมืองไทยหลายแห่งยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เมืองหลายแห่งยังขาดความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นทางเดินเท้าที่ไม่เหมาะสม การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน หรือระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางของผู้สูงวัย สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุในไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ เราจะปรับเมืองให้เป็น Smart และ Safety สำหรับทุกคนได้อย่างไร? คำตอบไม่ใช่เพียงแค่การติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่คือการพัฒนาเมืองให้เป็น เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน ที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองต่อความต้องการของประชากรสูงวัย แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อทุกช่วงวัย

ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงได้จัดโครงการนำร่องหลักสูตร Smart Sustainable City for Silver GEN เจาะลึกเทคโนโลยีการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อผู้สูงอายุ ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีวัตถุประสงค์หลัก ในการส่งเสริมเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ให้เกิดความร่วมมือกันในการยกระดับทักษะด้านการออกแบบอย่างยั่งยืนให้แก่ ผู้บริหารระดับสูง นักพัฒนาเมือง เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ผู้ที่สนใจการพัฒนาการออกแบบเมืองสู่ความยั่งยืน สถาปนิก วิศวกร ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักออกแบบเมือง  รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

 

รศ.ดร.สุธี อนันต์สุขสมศรี รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือ ดีป้า และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตร "Smart Sustainable City for Silver GEN" ที่จะนำเสนอแนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนที่เน้นความปลอดภัยและความสะดวกสบายสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของผู้สูงวัย แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับคนทุกวัยในสังคมไทย

โดยไฮไลต์หลักสูตร ได้แก่

- 8 วิทยากรชั้นนำด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อผู้สูงอายุ

- 5 แนวคิดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้นักพัฒนาเมืองยุคใหม่

- 3 สัปดาห์เจาะลึกเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมการออกแบบเมืองแห่งอนาคต

กำหนดระยะเวลาการศึกษาของหลักสูตรโดยความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับ ซียู ดีโฟร์เอส เอ็นเทอร์ไพรส์และ depa อบรมในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน - 23พฤศจิกายน และวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 24 พฤจิกายน - 1 ธันวาคม (กิจกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น 6วัน) หลักสูตร Smart Sustainable City for Silver GEN เจาะลึกเทคโนโลยีการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อผู้สูงอายุ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ - 10 ตุลาคม 2567 ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 139,000บาท/ท่าน พิเศษสำหรับหน่วยงานเอกชนสามารถลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ถึง 250%

 

 

You can share this post!