บางจาก คอร์ปอเรชั่น แนะรัฐบาลชุดใหม่ เร่งกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว ดึงดีมานด์กลับมาใช้รถและน้ำมันมากขึ้น เผยความสำเร็จในครึ่งปีแรก 2567 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบการดำเนินงาน 40 ปีของบริษัทฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 และเป็นปีแห่งการสร้าง Synergy ปรับตัวและเติบโต ขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน สอดประสานความเป็นเลิศในการดำเนินงานภายในกลุ่ม เพิ่มประสิทธิภาพและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมวินัยทางการเงิน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทในปี 2573 รักษาความเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย ขณะที่ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น สร้างรากฐานอันมั่นคง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวดีส่งผลให้ ปัจจุบันอัตราการใช้รถบนทางด่วนลดน้อยลง จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะยิ่งมีการใช้น้ำมันได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มบริษัทบางจากได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง
ทั้งนี้หลังมีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของบางจากฯ เป็น “ใบไม้ใบใหม่” ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าและสังคม รวมถึงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสถานีบริการ เป็นเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าในแบรนด์บางจากและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการขยายให้ลูกค้าเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 บางจากฯ จะเริ่มผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญสำหรับทั้งบริษัทฯ และประเทศไทย ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับบางจากฯ และสังคมโดยรวมในฐานะทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการบิน ด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทบางจากในการเป็นผู้นำในการพัฒนาเชื้อเพลิงยั่งยืน พร้อมทั้งดำเนินกลยุทธ์ตามแนวคิด Bangchak 100x เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทและการเติบโตเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทย และในปี 2573 จะมีสัดส่วนหลักมาจาก ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ที่ 53%, ธุรกิจโรงกลั่นฯ ที่ 35%, ธุรกิจพลังงานสะอาด 10% และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ & ธุรกิจใหม่ 6% จากปี 67 สัดส่วนธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติจะอยู่ที่ 53%, ธุรกิจโรงกลั่นฯ 37%, ธุรกิจพลังงานสะอาด 8% ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ & ธุรกิจใหม่ 2%
โดยบางจากฯ ยึดมั่นในพันธกิจในการขับเคลื่อนการเติบโตโดยรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมีแผนงานหลักๆ ในการขยายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน และธุรกิจต่อเนื่อง: (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) เน้นการสร้าง synergy ระหว่างโรงกลั่นระดับโลก 2 แห่งคือโรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา โดยได้ตั้งเป้าหมายอัตราการกลั่นน้ำมัน 280,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2568 จาก nameplate capacity (กำลังการกลั่นติดตั้ง) รวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มค่าการกลั่น (GRM) นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่มีมูลค่าสูง เช่น Unconverted Oil
และขี้ผึ้ง นอกจากนี้ ในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการบุกเบิกความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ด้วยกำลังการผลิต 7,000 บาร์เรลต่อวัน มีความพร้อมในการจัดวัตถุดิบสำหรับการผลิตจากเครือข่ายพันธมิตรและการรับซื้อน้ำมันผ่านโครงการทอดไม่ทิ้งทั่วประเทศ ซึ่ง SAF เป็นผลิตภัณฑ์ที่มี margin สูงกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานแบบดั้งเดิมและมีแนวโน้มความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ทำให้กลุ่มบริษัทบางจากก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโรงกลั่นเฉพาะทาง ที่ยึดมั่นด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยวางเป้ารายได้ในปี 2568 ไว้ที่ 18,000 ล้านบาท
ความเป็นเลิศในธุรกิจการตลาด: ขยายแนวคิด “Greenovative Destination” มีแผนเพิ่มเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันบางจากกว่า 2,400 แห่งภายในปี 2573 เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 33% จากครึ่งปีแรก 2567 อยู่ที่ประมาณ 28.8% โดยมุ่งเน้นที่ตลาดที่มีความต้องการสูง และในส่วนของธุรกิตตลาดพาณิชยกรรมมุ่งขยายตลาดในภูมิภาค (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียตนาม) การรวมบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าและเสริมสร้างภาพลักษณ์แบรนด์บางจาก เช่น ร้านกาแฟอินทนิล ที่มีแผนจะเพิ่มเป้น 2,400 แห่ง และ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น
การเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว: กลุ่มบริษัทบางจากมีการขยายธุรกิจพลังงานสีเขียว ผ่านการดำเนินงานของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ซึ่งยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2030 ตั้งเป้าได้รับการคัดเลือกเป็นหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 และเป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืนที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ด้วยกลยุทธ์เน้นการขยายการลงทุนในพลังงานสีเขียวในประเทศที่มีธุรกิจอยู่แล้วและการทำ capital recycling เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมกับการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินและผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแบบครบวงจร กำลังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์และขยายธุรกิจหลักไปสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูง บีบีจีไอตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิต CDMO (Contract Development and Manufacturing Organization) รายแรกในอาเซียนในปี 2568 โดยมีแผนที่จะผลิตมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปีภายในปี 2571
สร้างความมั่นคงทางพลังงานผ่านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม: กลุ่มบริษัทบางจากได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ด้วยการลงทุนใน OKEA ASA ในประเทศนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายการขยายกำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573 ตลอดจนมีแผนที่จะขยายธุรกิจ E&P ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อาทิ เอเชียแปซิฟิก เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ E&P ของกลุ่มบริษัทบางจากอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายรวมที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573
แพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเติบโตและเสถียรภาพทางการเงิน: กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ให้ผู้บริโภคเข้าถึงพลังงานได้ในราคาที่เหมาะสม และยั่งยืน โดยระหว่างปี 2568-2573 มีแผนการลงทุน 120,000 ล้านบาท เพื่อไปสู่เป้าหมาย EBITDA ระดับใหม่ที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่แข็งแกร่ง การเพิ่มประสิทธิภาพและการกระจายธุรกิจเพื่อสร้างสมดุลให้กับ Portfolio พร้อมด้วยความแข็งแกร่งทางการเงิน ได้รับการจัดอันดับเครดิต 'A' ที่มั่นคงจาก TRIS Rating ซึ่งช่วยให้สามารถมุ่งเน้นโอกาสในการเติบโตในขณะที่ยังคงรักษาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่แข็งแกร่ง
แนวทางเพื่อการเติบโต: มุ่งเน้นการขยายธุรกิจในระยะยาวผ่านการพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ ๆ
เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนและการใช้พลังงานใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว
กลุ่มบริษัทบางจากมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยการสร้างอนาคตผ่านการลงทุนและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้วิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593
ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยและภูมิภาค รวมถึงขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ วางงบลงทุนรวม 6 ปี (ปี 2568-2573) ไว้ที่ 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน 35% เพื่อรองรับในธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ หรือการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) โดยมองโอกาสขยายสู่ธุรกิจต้นน้ำ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการเข้าซื้อกิจการ (M&A), อีก 30% จะใช้ในธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน, ธุรกิจพลังงานสีเขียวราว 20% และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และธุรกิจใหม่ ราว 10%
ขณะที่ในปี 2568 คาดใช้งบลงทุนราว 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 4,500 ล้านบาท, ธุรกิจการตลาด 2,900 ล้านบาท, ธุรกิจพลังงานสีเขียว 20,000 ล้านบาท, ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 1,000 ล้านบาท, และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ 20,000 ล้านบาท, ธุรกิจใหม่อีก 1,600 ล้านบาท
“งบลงทุน 120,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะแบ่งเป็น M&A ราว 55,000 ล้านบาท ลงในธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ 60% และพลังงานสีเขียว 40%“ นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับปีนี้ บริษัทฯ ปรับเป้ารายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มเป็น 600,000 ล้านบาท จากเป้าเดิมคาดทำได้ประมาณ 500,000 ล้านบาท หลังครึ่งปีแรกมีรายได้จากการขายฯ แล้ว 293,438 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ คาดจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯ คาดมีอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่ 266,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเติบโต 5% จากปีก่อน, ธุรกิจการตลาด ขยายสถานีบริการต่อเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,214 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล เพิ่มราว 1,000 แห่งในปีนี้, ธุรกิจไฟฟ้าสีเขียว (BCPG) คาดมีกำลังการผลิตแตะ 7,960 เมกะวัตต์ เติบโต 112% จากปีก่อน 3,744 เมกะวัตต์, ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (BBGI) ตั้งเป้าเทิร์นอะราวด์ หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
"บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 รายได้จากการขายและการให้บริการจะเติบโตแตะ 1 ล้านล้านบาท และ EBITDA เติบโตแตะ 100,000 ล้านบาท เป็นไปตามการขยายตัวของทุกกลุ่มธุรกิจ" นายชัยวัฒน์ กล่าวในที่สุด
เกี่ยวกับบางจากฯ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานใน 5ธุรกิจหลัก คือ
1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ผู้นำด้านการกลั่นน้ำมันของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery มาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง คือโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงและโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขยายสู่ธุรกิจการค้าน้ำมันผ่านบริษัทบีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) และต่อยอดเครือข่ายธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิง ผ่านบริษัทกรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) รวมถึงลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF ผ่านบริษัทบีเอสจีเอฟ (BSGF)
2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ส่งมอบ Greenovative Experience ผ่านเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ non-oil เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio EV Charger รวมทั้งความร่วมมือกับพันธมิตรด้านอาหารหลากหลายและนำระบบดิจิทัลมาส่งมอบประสบการณ์ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ให้กับผู้ใช้บริการ
3) กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อม โดย บมจ. บีซีพีจี ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศและขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Businesses) อาทิ ธุรกิจ Battery as a Service สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie และสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศสำหรับ นวัตกรรมสีเขียว
นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต SynBio Consortium บางจากฯ ได้รับการประเมินจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI (ผลประเมินเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566) ได้คะแนนการประเมินสูงเป็น Top 5% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing และเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ได้รับการประเมินความยั่งยืน MSCI ESG Ratings ระดับ AA สูงสุดในกลุ่ม Oil & Gas Refining, Marketing, Transportation & Storage ต่อเนื่อง 5 ปีซ้อนบางจากฯ ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050