“คมนาคม” จับมือ CIB - ป.ป.ท. - ป.ป.ช. จับกุมเจ้าหน้าที่ ทล. เรียกรับส่วยรถบรรทุก พร้อมเร่งศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เน้นย้ำ “ส่วยสติกเกอร์ ส่วยทางหลวง”ต้องหมดไปในรัฐบาลนี้
นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมข้าราชการกรมทางหลวง (ทล.) ที่เรียกรับส่วยรถบรรทุก โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ในการดำเนินการตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้บังคับใช้กฎหมายจัดการและแก้ไขปัญหารถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อ ทางหลวงแผ่นดินหรือมีสภาพทรุดทรุดโทรมก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และสร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเข้มงวด
กระทรวงคมนาคมได้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่ง การนำเทคโนโลยีระบบตรวจวัดสามมิติ (3D Measurement System) ร่วมกับด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion: WIM) พร้อมทั้งระบบกล้องถ่ายป้ายทะเบียน (LPR) เพิ่มสถานีตรวจสอบน้ำหนักและจุดจอดพักรถบรรทุก รวมถึงหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนงานและงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ให้ครอบคลุมโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบางรายที่เรียกรับผลประโยชน์จากการปฏิบัติงาน กระทรวงคมนาคมจึงประสานงานกับตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สืบสวนขยายผลจนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 3 ราย ประกอบด้วย นายนพดล แสนงาย ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก ทล. และเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot check นายอเนก คำโฉม ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทด ขาเข้านครราชสีมา และนายธงชัย เต็มฟอม พลเรือนทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อคอยเคลียร์กับผู้ประกอบการรถบรรทุก
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยึดมั่นในการกวาดล้างส่วยสติกเกอร์รถบบรรทุกที่น้ำหนักเกิน โดยในปีที่ผ่านมาได้ตรวจสอบการบรรทุกน้ำหนักมากกว่า 30 ล้านครั้ง และสามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ถึง 2,600 ครั้ง อีกทั้งได้เร่งศึกษาและพิจารณาถึงการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดบทลงโทษให้หนักและเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดจะได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง เพื่อขยายผลต่อไป
“รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าปัญหาส่วย ทางหลวง ส่วยสติกเกอร์ จะต้องหมดไปในยุคของรัฐบาลนี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดย ทล. จะแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามต่อไป” นายกฤชนนท์ กล่าว