news-details
Business

“กลุ่มสยามกลการ”ประกาศแผน 3 ปี อัดงบ 9,500 ล้านบาท ลงทุน 3 กลุ่มธุรกิจ ดันรายได้โต 20% ทั้งขยายฐานผุดรร.นานาชาติ-คลังสินค้า-ดาต้าเซนเตอร์

กลุ่มสยามกลการ ประกาศแผน 3 ปี อัดงบลงทุน 9,500 ล้านบาทใน 3 กลุ่มธุรกิจ ดันรายได้โต 20% พร้อมขยายฐานธุรกิจนำอาคารสยามกลการ รีโนเวท เป็นรร.ระดับ 4 ดาว ดึงกลุ่มแพนแปซิฟิก เข้าบริหาร และรุกพัฒนาโรงเรียนนานาชาติ ย่านพัทยา ร่วมพันธมิตรยุโรป ทั้งจ่อดึงกลุ่มต่างชาติลงทุนธุรกิจคลังสินค้า-ดาต้าเซนเตอร์ เผยความคืบหน้า“อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์” หลังเปิดตัวมีผู้เข้าเช่าแล้ว 54% ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ ไม่หวั่นการแข่งขันเดือด ชูจุดขายได้การรับรองมาตรฐาน LEED ระดับโกลด์ และ Fitwel ระดับ 1 ดาว

 

นายประกาสิทธิ์ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของกลุ่มสยามกลการ ภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากปี 2568-2570 ว่า จะมีการลงทุนประมาณ 9,500 ล้านบาท ใน 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจกรีนเทคโนโลยี 2.ธุรกิจฮอสพิทาลิตี้-สนามกอล์ฟ และ 3.เรียลเอสเตท อินเวสเมนท์ และธุรกิจเพื่อการศึกษา ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทฯโต 20%

นอกจากนี้บริษัทฯยังมีแผนนำอาคารสยามกลการเดิม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม1 ซอยเกษมสันต์ 2 มารีโนเวทใหม่เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว สูง 19 ชั้น ขนาดตั้งแต่ 37-163 ตารางเมตร จำนวนประมาณ 220  ห้อง คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ Pan Pacific Hotels Group (PPHG) (แปซิฟิก กรุ๊ป) ในการเข้าบริหาร เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา  คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 รวมถึงการขยายฐานในธุรกิจการศึกษา ด้วยการเปิด “โรงเรียนนานาชาติ” ใกล้สนามพีระเซอร์กิต พัทยา ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรจากยุโรป ที่จะเข้ามาบริหารโรงเรียน

อีกทั้งยังมีแผนที่จะพัฒนา “คลังสินค้า” ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ โดยมีที่ดินเดิมของบริษัทฯรองรับแล้ว 2 แห่ง  คือ ย่านบางนา-ตราด กม.22 พื้นที่ 86 ไร่  และกม. 23 รวมไปดึงการลงทุนด้าน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และนิคมฯในจ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 40 ไร่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ กลุ่มกำลังพิจารณาการลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” 2 แห่งในที่ดินภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งใน จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่แห่งละประมาณ 40-50 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับความคืบหน้า“อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพญาไท พัฒนาในรูปแบบของอาคารสำนักงาน สูง 33 ชั้นนี้มีความสูง 136 เมตร และมีพื้นที่ให้เช่าสำนักงานและพื้นที่ร้านค้าปลีกทั้งหมด 51,000 ตารางเมตร ราคาเช่าเริ่มต้นที่ 1,000-1,200 บาท/ตารางเมตร/เดือน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไตรมาส 4/2566 ที่ผ่านมา ซึ่งบริหารอาคารโดย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์(ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันมีผู้เช่าแล้วประมาณ 54% โดยสัดส่วน 15% เป็นบริษัทในเครือสยามกลการ และบริษัทคนไทย คือกลุ่ม BEAUTRIUM ที่ดำเนินธุรกิจบิวตี้ชอป และที่เหลือเป็นบริษัทข้ามชาติ จากฝรั่งเศส,ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจประกัน และ AI อาทิ สยามดนตรียามาฮ่า, นิสสัน เทรดดิ้ง, ไดกิ้น, คริสเตียน ลูบูแตง, ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์, แอกซ่า ประกันภัย, บิวเทรี่ยม, อันเดอร์ อาร์เมอร์ เป็นต้น

อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดโคชิของญี่ปุ่น โดยรวมฟังก์ชันการใช้งานเข้ากับสุนทรียศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยหน้าต่างบานใหญ่จากพื้นจรดเพดานที่เปิดให้แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาในพื้นที่ และมอบทัศนียภาพของเมือง การออกแบบที่ประสานองค์ประกอบทางธรรมชาติเข้ากับภูมิทัศน์ของเมืองนี้ จึงเกิดเป็นพื้นที่การทำงานอันเงียบสงบท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองหลวง ตัวอาคารยังมีการผสานสุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก ฮิตาชิ และ ไดกิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มสยามกลการ ตั้งแต่ ระบบความปลอดภัย Hitachi Smart Building Platform ที่มีทั้งการจดจำใบหน้า การจัดการการเข้าถึงแบบอัจฉริยะ และการเฝ้าระวังที่ครอบคลุม ในขณะเดียวกัน มีการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมด้วยเทคโนโลยี VRV (Variable Refrigerant Volume) ของ ไดกิ้น ระบบปรับอากาศแบบศูนย์รวมอัจฉริยะที่มีคอนเดนซิ่งที่ช่วยให้ประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีฟีเจอร์ด้านความยั่งยืน อาทิ เซ็นเซอร์แสงและการเคลื่อนไหว กระจกสะท้อนกันความร้อน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบประหยัดน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และอีกมากมาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับโกลด์ และ Fitwel ระดับ 1 ดาว ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงโครงการ วัน แบงค็อก และ อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ เท่านั้น

นอกจากการรับรองเหล่านี้แล้ว อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ ยังได้รับการรับรอง WiredScore ระดับแพลตตินัม มาตรฐานรับรองการเชื่อมต่อดิจิทัลที่สูงที่สุดในระดับสากล โดยถือเป็นอาคารแห่งที่สองในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเครือข่าย Wi-Fi ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่อาคารสำนักงาน และการจัดการข้อมูลที่ปลอดภัย มากไปกว่านั้น อาคารแห่งนี้ยังได้รับการรับรอง SmartScore ระดับโกลด์ ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงการบูรณาการเทคโนโลยีอัจฉริยะขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ ก้าวข้ามแนวคิดอาคารสำนักงานแบบดั้งเดิม สู่การเป็นศูนย์กลางสุดมีชีวิตชีวาที่ผสมผสานทั้งศิลปะ การออกแบบ และไลฟ์สไตล์ เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีร้านค้าปลีกมากมายบนชั้นล็อบบี้ (L) ชั้น M ชั้น 5 ศูนย์อาหารบนชั้น 6 และ Club Siam ชั้น 11 (Amenities Floor) ที่บริหารพื้นที่โดย โกลว์ฟิช พันธมิตรของ สยามกลการ และผู้ให้บริการสำนักงานสำเร็จรูประดับไฮเอนด์ในเครือ เฮอริเทจ เอสเตทส์ นอกเหนือจากบรรยากาศอันเงียบสงบในพื้นที่แห่งนี้ ยังมี Club Siam Eatery & Bar และพื้นที่ไลฟ์สไตล์อเนกประสงค์ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการพักผ่อนและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย อาคารแห่งนี้ยังโดดเด่นด้วยผลงานศิลปะจากศิลปินชื่อดังหลายท่าน อาทิ Kusama Pumpkin ฟักทองลายจุดสีส้มลูกใหญ่ลูกแรกของไทย ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลกอย่าง ยาโยอิ คุซามะ และงานศิลปะบนผนังร่วมสมัยสไตล์ Breast Stupas Valentino ของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ศิลปินไทย ที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ

ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันตลาดอาคารสำนักงานจะมีการแข่งขันที่สูง แต่บริษัทฯก็มั่นใจในจุดแข็งของโครงการดังกล่าวข้างต้น คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้เช่าเพิ่มเป็น 75%

“อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ เป็นโครงการใหม่ภายใต้กลุ่มธุรกิจการลงทุน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มธุรกิจหลักของ กลุ่มสยามกลการ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลหนัก การท่องเที่ยวและบริการ การศึกษาและเครื่องดนตรี และการลงทุน โครงการนี้ยังถือเป็นก้าวสำคัญของ SMG Next ซึ่งคือกลุ่มบริษัทที่เป็นธุรกิจใหม่ของ กลุ่มสยามกลการ ด้วยเช่นกัน โดยการก่อสร้างอาคารฯ เริ่มขึ้นด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์ในเดือนเมษายน 2564 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ” นายประกาสิทธิ์ กล่าว

สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯมีรายได้รวมกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้หลักสัดส่วน 80% มาจากธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนที่เหลืออีก 20% มาจากธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมและเครื่องจักรกล อสังหาริมทรัพย์ ฮอสพิทาลิตี้ และโรงเรียนดนตรี

 

เกี่ยวกับ สยามกลการ และ กลุ่มสยามกลการ

สยามกลการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2495 โดย ดร.ถาวร พรประภา เพื่อประกอบธุรกิจค้ารถยนต์ และได้กลายเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันรายแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี 2505 สยามกลการ ได้ก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันแห่งแรกของประเทศไทยภายใต้ชื่อ ‘บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด’ นับตั้งแต่นั้นมา สยามกลการ จึงมุ่งทุ่มเทให้กับการพัฒนาองค์กร ทรัพยากรบุคคล และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม จนสามารถขยายการดำเนินธุรกิจไปได้ถึง 6 กลุ่มธุรกิจที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มสยามกลการ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์, อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์, อุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลหนัก, การท่องเที่ยวและบริการ, การศึกษาและเครื่องดนตรี และการลงทุน ปัจจุบัน กลุ่มสยามกลการ ประกอบด้วยบริษัทในเครือประมาณ 69 แห่ง อาทิ นิสสัน, เกีย, ยีเอสแบตเตอรี่, โคมัตสุ, สยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเทล, สยามดนตรียามาฮ่า และ สยามปทุมวัน เฮ้าส์ และยังคงมีบทบาทที่มั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทยมานานกว่า 7 ทศวรรษ

 

You can share this post!