news-details
Business

เงินบาท"อ่อนค่าเล็กน้อย" เปิดเช้านี้ 33.55 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 33.55 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่าลงเล็กน้อย" กรุงไทย มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์ รอติดตามรายงานการประชุมเฟด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.49 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.40-33.61 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้โซน 4.05% หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายนได้ (โอกาสราว 14% จาก CME FedWatch Tool) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการปรับสถานะถือครองสินค้าโภคภัณฑ์ของผู้เล่นในตลาดหลังราคาน้ำมันดิบก็ดิ่งลงแรง ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเกือบ -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ยังคงถูกจำกัดอยู่แถวโซนแนวต้านใหม่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าวบ้าง อีกทั้งราคาทองคำก็ทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายนได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า RBNZ มีโอกาสลดดอกเบี้ย –50bps สู่ระดับ 4.75% หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจก็ชะลอลงพอสมควร ส่วน RBI อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.50% แต่ก็อาจเริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ตามแนวโน้มการชะลอลงของทั้งเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตอบโต้อิหร่านของทางการอิสราเอล ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า แม้โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเงินบาทยังคงติดโซนแนวต้านใหม่แถว 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด (รวมถึงการทยอยขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก) อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังมีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน ความผันผวนของตลาดการเงินจีน หลังล่าสุดผู้เล่นในตลาดก็เริ่มผิดหวังต่อรายละเอียดใหม่ๆ ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ทำให้เงินหยวนจีน (CNY) เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ซึ่งอาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์อย่างชัดเจน จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงวันพฤหัสฯ นี้ได้ ทำให้โดยรวม เงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 33.40-33.65 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์

You can share this post!