news-details
Business

เงินบาท "แข็งค่าขึ้น" เปิดเช้านี้ 33.45 บาท/ดอลลาร์

บาท "แข็งค่า" เปิดเช้านี้ 33.45 บาท/ดอลลาร์ กรุงไทย คาดวันนี้ 33.30-33.55 บาท/ดอลลาร์ รอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.59 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการทยอยแข็งค่าขึ้น (กรอบการเคลื่อนไหว 33.41-33.66 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ออกมาที่ระดับ 2.4% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ต่างเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 258,000 ราย และ 1,861,000 ล้านราย แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ กอปรกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ ที่ต่างย้ำมุมมองเดิมพร้อมสนับสนุนการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด และไม่ได้แสดงความกังวลต่อรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับมาเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน รวมถึงกลับมาเชื่อว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยได้มากขึ้นในปีหน้า ซึ่งการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลง หนุนให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำก็มีส่วนหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ PCE ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกันยายน รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตอบโต้อิหร่านของทางการอิสราเอล ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาแย่กว่าคาด (ซึ่งเราขอเน้นย้ำว่า เฟดอาจให้ความสำคัญกับรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นหลักในการตัดสินใจนโยบายการเงิน) อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาทในระยะสั้นนั้น ในเชิงเทคนิคัลก็ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีต่อมุมมองของเราที่ยังเชื่อว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ เพราะเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในลักษณะ Cup with Handle pattern ได้ ใน Time Frame รายวัน โดยหากเงินบาทไม่ได้แข็งค่าต่อเนื่องจนหลุดโซนแนวรับ 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ เราก็ยังคงเชื่อว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ และจะยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะอ่อนค่าต่อไปถึงโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากเงินบาทสามารถกลับมาอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการทำ Cup with Handle pattern ที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น เรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะในส่วนของหุ้นไทย ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้ ทว่า เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ จากสองปัจจัยทั้งแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางของเงินหยวนจีน (CNY) ที่อาจเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน และการปรับมุมมองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ซึ่งต้องรอลุ้นการแถลงรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในวันเสาร์นี้

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.55 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

You can share this post!