ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” กรุงไทย คาดวันนี้ จะอยู่ที่ 33.00-33.40 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ผลประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.20 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.18 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 33.12-33.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าของราคาทองคำ (XAUUSD) อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจนและอ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของตลาดหุ้นยุโรปและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ ของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการทยอยกลับมาเก็งกำไร Trump Trades ของผู้เล่นในตลาดอีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า โดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐฯ (Polymarket ให้โอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะเกือบ 59%)
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) –25bps สู่ระดับ 3.25% ตามที่ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า ECB จะมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงจะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินยูโร (EUR) ในระยะสั้นได้พอสมควร
ส่วนทางฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนกันยายน พร้อมทั้งรอลุ้นรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) อย่างใกล้ชิด ซึ่งเราประเมินว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องได้ ตามผลกระทบของพายุเฮอริเคนในช่วงที่ผ่านมา
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง ECB และเฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนผู้เล่นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ก็จะรอลุ้นรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways 33.05-33.35 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยโซนแนวรับอาจขยับลงมาบ้าง หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง หากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าได้อีกครั้ง นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ตลาดของ กนง. ในวันก่อนหน้า ก็อาจเปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของหุ้นไทย (วันก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า +4.2 พันล้านบาท) อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง หากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นหรืออย่างน้อยแกว่งตัว sideways ซึ่งเราประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB ในช่วงตั้งแต่ 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงการส่งสัญญาณของทาง ECB ต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งต้องติดตามการแถลงของประธาน ECB ในช่วง 19.45 น. โดยหาก ECB ลดดอกเบี้ยจริงตามคาด และส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยลง ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้บ้าง แต่อาจไม่มากนัก หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB และนอกเหนือจากผลการประชุม ECB ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.40 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)