“สุรพงษ์ ปิยะโชติ” ร่วมผลักดันลงนาม MOU ระหว่าง ขบ. และ รฟท. ยกระดับความร่วมมือบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้า รองรับการเชื่อมต่อระหว่างทางบกกับทางราง อย่างไร้รอยต่อ!! นำร่องพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม สนับสนุนระบบรางให้เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน-ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
วันนี้ (วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางราง อย่างไร้รอยต่อ ระหว่าง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 1 กรมการขนส่งทางบก
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึง บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางราง อย่างไร้รอยต่อ โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่อยู่ในการกำกับดูแล ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเร่งรัดให้สามารถเปิดให้บริการโครงการต่างๆ ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคต่อไป
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก” เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีพันธกิจในการพัฒนาระบบการขนส่งทางถนนให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่น เพื่อเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันทั้งภายในและระหว่างประเทศ ได้มีแผนในการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางถนน เพื่อรองรับกิจกรรมการรวบรวมและกระจายสินค้า บนเส้นทางยุทธศาสตร์และพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในเมืองหลักและจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้สถานีขนส่งสินค้าสามารถสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งกับระบบราง
ขณะที่ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีพันธกิจในการเป็นองค์กรที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาการขนส่งระบบรางให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ ก็ได้มีแผนในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้มีความครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะมีการดำเนินการก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) เพื่อรองรับกิจกรรมการรวบรวมและกระจายสินค้าระหว่างทางถนนกับทางราง รวมถึงรองรับการเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ซึ่งหากทั้งสองหน่วยงานมีการบูรณาการโครงการให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างกันได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งในเชิงกายภาพ และใน
เชิงการบริหารจัดการ จะช่วยสร้างโครงข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของสินค้า รวมถึงภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะยกระดับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางบกกับทางราง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไร้รอยต่อ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทุกระบบ สามารถเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เปิดประตูค้าขาย และเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น
โดยขอบเขตของการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ กำหนดให้กรมการขนส่งทางบก และการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการสนับสนุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งสินค้าตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางราง ณ สถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) หรือย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) หรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบันและมีแผนจะดำเนินการในอนาคต ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก มีโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 และอยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีแผนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในปี 2567 และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งในส่วนที่ภาครัฐและเอกชน (PPP) รับผิดชอบ โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งทั้งสองโครงการข้างต้น จะรองรับการเชื่อมต่อกับระบบรางผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ตามลำดับ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นการยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่กระทรวงคมนาคมได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของสินค้าได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเปิดประตูการค้า การลงทุน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม และเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายระบบราง ทั้งโครงการรถไฟสายใหม่ และโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนอย่างเต็มที่