ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 33.67 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” กรุงไทย คาดวันนี้ จะอยู่ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.64 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.61-33.74 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนตุลาคม และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะย่อตัวลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็เริ่มชะลอลง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงบ้าง เปิดโอกาสให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,730-2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ แรงขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน จากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็พอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งยุโรป โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายยงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนตุลาคม และรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด เช่นกัน
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งรอลุ้น การเลือกตั้งสภาผู้แทน (Lower House Election) ของญี่ปุ่น ในวันอาทิตย์ 27 ตุลาคม นี้ โดยจากสถิติในอดีต เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มักจะไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างชัดเจน หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง (เนื่องจากส่วนใหญ่ พรรค LDP มักจะครองเสียงข้างมากในสภาได้) ยกเว้น การเลือกตั้งนั้นมีแนวโน้มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงิน อาทิ ในปี 2009 พรรค DPJ สามารถชนะพรรค LDP ได้ หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นราว 4% หลังการเลือกตั้ง 1 เดือน ส่วนปี 2012 พรรค LDP ภายใต้อดีตนายกฯ Shinzo Abe ชนะการเลือกตั้ง นำไปสู่นโยบายเศรษฐกิจ Abenomics ทำให้เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลง กว่า 6% หลังการเลือกตั้ง 1 เดือน ซึ่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนที่จะถึงนี้นั้น พรรค LDP ก็อาจยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภา ร่วมกับพรรคพันธมิตร Komeito ตามเดิม ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเยนญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ แต่หาก พรรค LDP สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเพียงพรรคเดียว หรือพรรคฝ่ายค้าน CDP พลิกกลับมาชนะการเลือกตั้ง ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม เงินเยนญี่ปุ่นอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง หากพรรค LDP และพันธมิตรกลับเสียที่นั่งในสภาไปมาก จนต้องหาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้การเมืองญี่ปุ่นดูมีปัญหาได้ในระยะสั้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เรายังคงมั่นใจต่อแนวโน้มการทยอยอ่อนค่าลงของเงินบาท ทว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็ชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงวันก่อนหน้า อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังคงมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทำให้ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วง 33.55-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทว่า ในช่วงนี้ เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ ตามแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งธีม US Exceptionalism ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดูดีและโดดเด่นกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่างที่ได้เห็นจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุด รวมถึงธีม Trump Trades หรือการปรับลดความเสี่ยงก่อนรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจเห็นทั้งการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมกับการปรับตัวลงของบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก อีกทั้งธีม Trump Trades ก็อาจกดดันสินทรัพย์ฝั่งตลาดเกิดใหม่เอเชีย (EM Asia) ได้ ทำให้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากบรรดนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ เราคงประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาทองคำก็ยังมีโอกาสรีบาวด์สูงขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำในช่วงเผชิญความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงแถวโซนแนวต้าน 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์