เมื่อพูดถึงโรคร้ายอย่าง “มะเร็ง” หลาย ๆ คนมักนึกถึง มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ ฯ เพราะเป็นโรคร้ายที่พบบ่อย กลายเป็นภัยใกล้ตัวที่ทุกคนต้องระวัง แต่คุณจะรู้หรือไม่ นอกจากโรคมะเร็งยอดฮิตทั่วไป ยังมีมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่อันตรายมาก ๆ อัตราการเกิดโรคน้อย การรักษายาก โอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยน้อยมาก นั่นก็คือ “โรคมะเร็งหัวใจ”
“โรคมะเร็งหัวใจ” คืออะไร? พญ.อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า โรคมะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer หรือ Heart cancer) เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย พบผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 1,380 คน ต่อจำนวนประชากร 100 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ทำให้คนไม่รู้จักมะเร็งชนิดนี้ “โรคมะเร็งหัวใจ” เกิดจากเนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติ โดยจะแบ่งได้เป็น 1. มะเร็งหัวใจที่เกิดจากเนื้อเยื่อหัวใจเอง สาเหตุนี้จะพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากพันธุกรรม 2. มะเร็งหัวใจที่เกิดจากมะเร็งอื่น ๆ ในอวัยวะที่ใกล้เคียง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ที่แพร่กระจายเชื้อมะเร็งมาสู่หัวใจ ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมาก ๆ
พญ.อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์ กล่าวต่อว่า อาการของ “มะเร็งหัวใจ” กับ “โรคหัวใจ” มีอาการที่คล้ายกันมาก ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด รวมถึงยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่แท้จริง โดยผู้ป่วย “มะเร็งหัวใจ” จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคหัวใจ คือ เหนื่อยง่าย หอบ ไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำ ๆ หน้าบวม คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่ง ตับโต ท้องมานเพราะมีน้ำในช่องท้อง หรือ ขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง ซึ่งอาการโดยทั่วไปของโรคจะขึ้นอยู่กับว่า “ก้อนมะเร็ง” ไปเกาะและอุดตันส่วนไหนของหัวใจ บางครั้งตัวก้อนมะเร็งไปขวางการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจวาย
สำหรับขั้นตอนการรักษา “โรคมะเร็งหัวใจ” แพทย์จะทำการตรวจ Echocardiogram, CT Scan หรือ Cardiac MRI เพื่อตรวจความผิดปกติของ “หัวใจ” เพื่อนำมาวินิจฉัยประกอบการรักษาอย่างละเอียด โดยส่วนใหญ่หากทำการตรวจจะพบความผิดปกติ เช่น มีก้อนเนื้อหลาย ๆ ก้อนเกาะที่หัวใจ หรือผนังหลอดเลือดหัวใจ หากเป็นมะเร็งหัวใจก้อนเนื้อ มักจะอยู่ภายในหัวใจ โดยจะเกาะอยู่ที่หัวใจห้องต่าง ๆ กีดขวางการทำงานของผนังเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งลักษณะของก้อนเนื้อที่บ่งบอกว่าเป็น “มะเร็งหัวใจ” จะมีลักษณะไม่กลมเหมือนเนื้องอกทั่วไป ลักษณะจะเป็นก้อนยุ่ย ๆ คล้ายฟองน้ำ
เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งหัวใจ แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกจากหัวใจ ซึ่งการผ่าตัดค่อนข้างยาก เพราะในหัวใจมีเส้นเลือดเยอะ การผ่าตัดต้องระมัดระวัง โดยการผ่าตัดมะเร็งหัวใจ แพทย์ต้องผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้เยอะที่สุด หลังจากการผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด หรือทำการฉายแสงเหมือนโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ แต่การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้ผลเหมือนการรักษาโรคมะเร็งทั่วไป เนื่องจาก เนื้อเยื่อหัวใจเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ทำให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง ไม่ค่อยได้ผลไม่เจริญเติบโต ทำให้การรักษาเป็นได้ยาก หลังจากผ่าตัดพบว่า ผู้ป่วยจะมีโอการอดชีวิตอยู่ถึง 1 ปี มีเพียงแค่ 10% เท่านั้น
พญ.อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์ กล่าวปิดท้ายว่า “โรคมะเร็งหัวใจ” เป็นโรคที่เกิดขึ้นมานาน แต่อัตราการเกิดโรคน้อยมาก โดยโรคสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนมากจะเจอคนไข้ในคนอายุน้อย โดยเฉลี่ย 30-40 ปี อีกกลุ่มคือเด็กเล็ก เมื่อเป็นโรคที่พบน้อย จึงส่งผลให้เทคโนโลยีในการรักษาจึงมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการผ่าตัด ยาพุ่งเป้าสำหรับรักษามะเร็งหัวใจ รวมถึงเคมีบำบัดยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจัง โอกาสรอดชีวิตของคนไข้โรคนี้จึงน้อยมาก ๆ
ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนควรจะต้องระมัดระวังตัวเองให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ทานอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่าง ๆ รวมไปถึงการระวังตัวในการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีสารเคมีปกคลุมเป็นจำนวนมาก หมั่นตรวจเช็คร่างกาย รวมถึงตรวจเช็คสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละครั้ง ก็จะทำให้ทุกคนสามารถรอดพ้นจาก โรคมะเร็งหัวใจ ได้อีกขั้น
ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูล “โรคมะเร็งหัวใจ” ได้ที่ โทร.1270 หรือ Line: https://lhco.li/3YR7rhZ และ Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital