“มนพร” เดินหน้าผลิตบุคลากรการบิน ด้าน “การบำรุงรักษาอากาศยาน” รองรับความต้องการอุตสาหกรรมการบิน หนุนไทยก้าวสู่ Aviation Hub ของภูมิภาค สั่ง สบพ. ลุยขอรับการรับรองให้เป็น “สถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน” ตามมาตรฐาน EASA ยันหลักสูตรได้ปฏิบัติงานจริง หวังปั้นนักศึกษาให้เข้าทำงานได้ทั่วโลก คาดตรวจขอรับรองในช่วงต้นปี 68
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในฐานะสถาบันเฉพาะทางในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินของประเทศ เดินหน้าสร้างบุคลากรด้านการบิน โดยเฉพาะด้านการบำรุงรักษาอากาศยาน เพื่อให้สอดรับต่อความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งในประเทศและภูมิภาค รวมถึงรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน สบพ. ได้รับการรับรองสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน (Aircraft Maintenance Engineer Training Organization) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และอยู่ระหว่างการขอรับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินตามมาตรฐานองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) (Foreign EASA Part-147 Maintenance Training Organization) ซึ่งคาดว่า จะมีการตรวจประเมิน ณ สถานที่ตั้ง (Onsite Audit) เพื่อรับการรับรองในช่วงต้นปี 2568
โดยหาก สบพ. ได้รับการรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินตามมาตรฐาน EASA แล้วนั้น
จะทำให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินจาก สบพ. มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของ EASA ทำให้มีสิทธิ์ที่จะทำงานในสายการบินต่าง ๆ ที่ใช้ข้อกำหนดของ EASA ได้ รวมทั้ง สบพ. ยังสามารถเปิดหลักสูตรรองรับลูกค้าต่างชาติที่ต้องการการฝึกอบรมตามมาตรฐาน EASA ได้มากขึ้นด้วย
ด้านนางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของ EASA ตามมาตรฐานยุโรป โดยเพื่อให้มีความสอดประสานของข้อกำหนด และเกิดการยอมรับระหว่างประเทศนั้น สบพ. จึงได้ดำเนินการตามทุกมาตรฐาน ทั้ง EASA, องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO), สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำหรับหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินของ สบพ. มีความครบถ้วนในทุกด้าน โดยนักศึกษาจะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับอาจารย์ผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ฝึกอบรมกับอากาศยานจริง อุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมเป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ สบพ. ยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการด้านการบำรุงรักษาอากาศยานชั้นนำของประเทศ เพื่อร่วมกันฝึกอบรมภาคปฏิบัติภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานจริงให้กับนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมจริง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการบินจาก สบพ. ภายใต้การรับรองสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินจาก กพท. และการกำกับดูแลของ ICAO โดยมีคุณวุฒิเทียบเท่าระดับอนุปริญญา จึงมีโอกาสสูงในการได้งานทำตรงสายในอุตสาหกรรมด้านการบำรุงรักษาอากาศยาน
ทั้งนี้ สบพ. ได้เปิดสอนหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน มาแล้วกว่า 63 ปี หรือตั้งแต่ปี 2504 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติ (United Nations Special Fund: UNSF) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization :ICAO) และรัฐบาลไทย และ สบพ. ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบัน สบพ. เปิดดำเนินการหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน (Aircraft Maintenance Engineer License : AMEL) มี 2 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาช่างเครื่องบิน วิชาเอกเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ (B1.1, B1.2) และสาขาวิชาช่างเอวิโอนิกส์ (B2) ภายใต้การรับรองสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินจาก กพท. โดยหลักสูตรนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 2562 จากหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชานายช่างบำรุงรักษาอากาศยาน เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมช่างอากาศยานให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
สำหรับ สบพ. ได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้เป็นสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ PLATINUM ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของโครงการ นับเป็น 1 ใน 4 สถาบันฝึกอบรมในภูมิภาคเอเชีย และเป็น 1 ใน 9 สถาบันฝึกอบรมจากสมาชิกทั่วโลก รวมทั้งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีคุณภาพอีกด้วย