อิมแพ็คฯ กางแผน “Business Direction 2567 – 2568” ประกาศกลยุทธ์การเติบโตรับอุตสาหกรรม MICE งานอีเวนต์ การจัดประชุม และคอนเสิร์ตระดับโลก เดินหน้าจัดงานคึกคัก ลุยปั้นอาณาจักร IMPACT มุ่งสู่ Smart City ขณะที่ แผนการก่อสร้างโครงการ Sky Entrance เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ คาดแล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ ปี 2568 เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนโอกาสการเติบโตของ IMPACT GROWTH REIT ผู้นำศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ลุยขยายฐานลูกค้า โฟกัสงานต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะ จีน รวมทั้ง โฟกัสอินเดีย เวียดนาม และเกาหลี ส่องในช่วงที่เหลือของปีการจัดงานระดับเวิลด์คลาสปูพรมจัดที่ IMPACT ต่อเนื่อง
นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์กองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็ค โกรท (IMPACT GROWTH REIT) หรือ IMPACT ผู้นำศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโต ปักธง 3-5 ปีจากนี้ เดินหน้าขยายอาณาจักร IMPACT มุ่งสู่ SMART City นำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการสถานที่จัดประชุม นิทรรศการ คอนเสิร์ต และกิจกรรมต่างๆ แบบครบวงจร อีกทั้งยังเมีแผนปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น สะท้อนจากภาพรวมงานกลุ่ม Entertainment ในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 224 ล้านบาท และในปี 2567 คาดการณ์สิ้นปีรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 380 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 70% อาทิ งานคอนเสิร์ต และงานมิวสิคเฟสติวัล ที่มีกลับมาจัดงานหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 อย่างคึกคัก และอีกไฮไลท์ที่เติบโตขึ้นมาก คืองานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลรางวัล (Incentive) ในปี 2566 กลุ่มนี้ทำรายได้ 123 ล้านบาท สิ้นปีนี้ คาดว่าเติบโตเท่าตัวอยู่ที่ 250 ล้านบาท อย่างไรก็ดี งานในกลุ่ม Global Conventions อยู่ระหว่างการเจรจาและรอคอนเฟิร์มเพิ่มเติม ขณะที่งาน Exhibitions ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเติบโตตามสภาวะเศรษฐกิจ และคาดการณ์จะดีขึ้นต่อเนื่อง มีงานใหญ่เข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติมอีก ซึ่งทางบริษัทมีความสนใจในการเข้าไปร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าว จากความสามารถและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ IMPACT ที่ผ่านมา ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจำนวนมาก และมองว่าพื้นที่ในเมืองทองธานีมีความเหมาะสมที่จะใช้ทำเป็นโครงการ Entertainment Complex จากศักยภาพของพื้นที่ และการเข้าถึงโครงการที่สะดวกที่มีทั้งถนนที่ตัดออกไปได้หลายทาง ทางด่วน และรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2/2568 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนในปี 2568 ภาพรวมเมกะอีเวนต์คึกคัก ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการเข้าไปเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ Entertainment Complex อีกด้วย
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) มีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในปี 2568 และเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) พบว่า ทิศทางอุตสาหกรรม MICE มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่า ปี 2568 ประเทศไทยจะมีรายได้จากอุตสาหกรรม MICE ถึง 200,000 ล้านบาท สะท้อนโอกาสในการผลักดันประเทศไทยเป็น Hub การจัดงานแห่งภูมิภาค
และอีกไฮไลท์ที่เติบโตขึ้นมาก คืองานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลรางวัล (Incentive) ในปี 2566 กลุ่มนี้ทำรายได้ 123 ล้านบาท สิ้นปีนี้คาดเติบโตเท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาท อย่างไรก็ดี งานในกลุ่ม Global Conventions อยู่ระหว่างพูดคุยและรอคอนเฟิร์มเพิ่มเติม ขณะที่งาน Exhibitions ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเติบโตตามสภาวะเศรษฐกิจ และคาดการณ์จะดีขึ้นต่อเนื่อง มีงานใหญ่เข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติมอีก
สำหรับภาพรวมธุรกิจของ IMPACT ในการบริหารงานและบริการที่ครบวงจร สร้างมูลค่าให้กองทรัสต์ และในปี 2567 กองทรัสต์ครบรอบ 10 ปี ซึ่งมั่นใจว่า IMPACT GROWTH REIT เป็นกองทรัสต์ที่มีความมั่นคง งานใหญ่ๆ จัดที่นี่มากมาย แม้วิกฤติโควิด-19 ก็ยังมีการจ่ายปันผลต่อเนื่องทุกปี และยังมีโอกาสขยายการเติบโตในอนาคต
ด้านภาพรวมของรายได้ของกองทรัสต์ IMPACT ในปี 2568/2569 ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากปี 2567/2569 จากความต้องการในการจัดงานอีเวนต์ และคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานคอนเสิร์ตที่ลูกค้าผู้จัดงานจองในส่วนของ ARENA เต็มล่วงหน้าไปแล้วถึงปี 2568 โดยเป็นคอนเสิร์ตจากต่างประเทศสัดส่วน 54% และคอนเสิร์ต ศิลปินไทย 46% และในส่วนอื่นๆที่เป็นพื้นที่ของ Challenger Hall, Impact Exhibition Hall 4-12 และ Forum เริ่มมีการทยอยจองเข้ามาต่อเนื่อง
โดยกลยุทธ์ของ IMPACT ได้เล็งเห็นถึงการขยายฐานใหม่ๆที่เป็นกลุ่มลูกค้าจากจีน ซึ่งมีทีมงานเข้าไปทำการตลาดในประเทศจีนมากขึ้น เพื่อทำให้ลูกค้าจากจีนที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่ของ IMPACT ในการจัดงาน รวมถึงการที่ผลักดันให้กลุ่มที่เป็น Infuencer ที่เริ่มมีการจัดอีเวนต์ออกมาจากแพลทฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเข้ามาเสริม
นอกจากนี้ทางบริษัทมีแผนในการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ IMPACT เข้ามา โดยจะนำโรงแรม 2 โรงแรม ได้แก่ NOVOTEL Bangkok IMPACT และ IBIS Bangkok IMPACT ขายเข้ากองทรัสต์ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในระยะเวลา 12 เดือน โดยที่ทางบริษัทมีแผนในการพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่เพิ่มในพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว จำนวน 1,000 ห้อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท และเป็นมูลค่าของโรงแรมทั้ง 2 แห่ง ที่จะขายเข้ากองทรัสต์ IMPACT และในอนาคตยังมีแผนที่จะพัฒนาโรงแรมให้ได้ถึง 5,000 ห้อง เพื่อผลักดันให้พื้นที่ในเมืองทองธานี เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
“IMPACT เราเป็นศูนย์ประชุมและการจัดงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ในอนาคตเราจะขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งงาน Incentive Entertainment Exhibition กลุ่มพวกนี้มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตลาดจีนที่ตอนนี้มีการเติบโตขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น งานใหญ่อย่าง MOTOR Expo ปีที่แล้วเรามีแบรนด์จีนจัดงานที่ IMPACT จำนวน 7 แบรนด์ ปี 2567 นี้ก็คาดจะมี 19 แบรนด์ เติบโตก้าวกระโดด ใช้พื้นที่ในฮอลล์เต็มพื้นที่ นอกจากนี้ ยังโฟกัสกลุ่มใหม่ๆ อาทิ อินเดีย เวียดนาม และ เกาหลี” นายพอลล์ กล่าว
นางสาววันเพ็ญ มุ่งเพียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ เอ็ม ไอ จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็ค โกรท (IMPACT GROWTH REIT) ผู้นำด้านการให้บริการสถานที่จัดประชุม นิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ แบบครบวงจร กล่าวถึง ภาพรวมของกองทรัสต์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความมั่นคงในการเติบโต และการจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือหน่วยต่อเนื่องทุกปี ด้วยการบริหารจัดการผ่านทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมด 4 แห่ง ตั้งอยู่ในโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีพื้นที่รวม 479,761 ตารางเมตร และพื้นที่จัดแสดงงานสุทธิ 122,165 ตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การจัดแสดงอิมแพ็ค อารีน่า อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (ฮอลล์ 1-3) ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม (ฮอลล์ 4) และศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ฮอลล์ 5-12)
ด้วยจุดเด่น IMPACT เป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย และเป็นกองทรัสต์ศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง โดยปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 50% ของภาพรวมการจัดงานประชุมและนิทรรศการในประเทศ ฐานลูกค้ามีความหลากหลาย ในงวดปี 2566 ที่ผ่านมา (งบปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567) สัดส่วนงานภาคเอกชนอยู่ที่ 57% รัฐบาล 21% และต่างประเทศ 22% สะท้อนความไว้วางใจ และสามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดี ในด้านอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ยรวม (Occupancy Rate) อยู่ที่เกือบ 50% ณ งวดไตรมาส 1 ปี 2567/2568 (เมษายน - มิถุนายน 2567) และมีอัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยรวม 85.8 บาทต่อตารางเมตร นับเป็นการใช้อัตราพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ Sky Entrance ปัจจุบันดำเนินงานก่อสร้างไปแล้วถึง 62.6% (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567) คาดแล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ ปี 2568 ซึ่งเป็นทางเดินในร่มเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า MT-01 (สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี) และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินหลักที่ กองทรัสต์ IMPACT เข้าลงทุน สามารถต่อยอดธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการจัดงานมีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้ง งานใหญ่จากต่างประเทศที่ต่อคิวรอไปจนถึงสิ้นปี 2567 นี้ และในปี 2568 โดยตั้งเป้าในปี 2567/2568 (งบปีสิ้นสุด มีนาคม 2568) รายได้จะเติบโตราว 25% จากปีก่อนมีรายได้รวมประมาณ 1,752 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยมองว่าแนวโน้มไตรมาส 2/2567-2568 รายได้มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/2567-2568 ที่มีรายได้ 664.8 ล้านบาท หรือเติบโต 50.1% และกำไรสุทธิ 379 ล้านบาท
ด้านหนี้สินในปัจจุบัน อยู่ที่ 3,860 ล้านบาท โดยในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมามีการรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันขึ้นลง ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งล่าสุดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้ได้ผลดี จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยต้นทุนทางการเงินจะลดลงจากปีก่อน ส่วนการจ่ายปันผล คาดว่าปีนี้หากรายได้เติบโตได้ตามเป้าหมาย กำไรสุทธิน่าจะเพิ่มขึ้น และมีโอกาสจ่ายเงินปันผลได้มากกว่าปีก่อน โดยปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ของกองทรัสต์ IMPACT อยู่ที่ 16,000 ล้านบาท และมีพื้นที่เช่ารวม 122,165 ตารางเมตร