ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.55 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” กรุงไทย คาดวันนี้จะอยู่ที่ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ แนะระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.55 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.62 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.53-33.67 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ยังคงทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ในธีม Trump Trades ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนตุลาคม ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควรก็ตาม นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) เข้าใกล้โซน 2,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างก็ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ในธีม Trump Trades แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่โซน 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-103.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกดดัน ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ให้ย่อตัวลงได้บ้าง ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนอยู่ ตามความต้องการของผู้เล่นในตลาดเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาทองคำ สามารถรีบาวด์ขึ้นและแกว่งตัวแถวโซน 2,750-2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งเราประเมินว่า ผลการเลือกตั้งอาจจะรู้อย่างเร็วสุดในช่วงบ่ายของวันนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การนับคะแนนการเลือกตั้งอาจใช้เวลานานหลายวัน จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งได้ เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2020 อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจเคลื่อนไหวผันผวนสูง ตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มผู้ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และอัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นต้น
และในฝั่งไทย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนตุลาคม มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 0.96% เข้าใกล้กรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้น หนุนโดยการฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงปลายปี ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาท รวมถึงสินทรัพย์อื่นๆ ในตลาดการเงิน มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าช่วงปกติ ในระหว่างตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนไปตามแนวโน้มผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยจากข้อมูลสถิติในอดีตตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2016 พบว่า เงินบาทอาจผันผวนในกรอบ 0.6% ซึ่งอาจดูไม่กว้างมากนัก ทว่าในปัจจุบัน เงินบาทได้อยู่ในช่วงผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นเกิน 2 เท่า จากค่าเฉลี่ยในอดีตได้ เช่น เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบเกิน 1% หรือ เกิน 40 สตางค์ ได้
เราประเมินว่า หากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นไปตามกรณี Base Case ที่เราประเมินว่า คือ Trump w/Divided Congress ซึ่งเรายอมรับว่า อาจรับรู้แนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก่อนการเลือกตั้งในส่วนของวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ ได้ ผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับ แนวโน้มที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ด้วยการเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงกลับไปทดสอบโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ในทางกลับกัน หาก กมลา แฮร์ริส สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้สำเร็จ (Democrat Trifecta, Blue Sweep) ก็จะเป็นกรณีที่ยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเร่งปรับลดสถานะถือครองสินทรัพย์ธีม Trump Trades กดดันให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลงได้พอสมควร (เรามอง Asymmetric risk สำหรับ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยการปรับตัวขึ้นอาจไม่มาก เท่าการปรับตัวลดลง) หนุนให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้น จนเสี่ยงทะลุโซนแนวรับหลัก 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจสูสีได้พอสมควร)